สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป ประจำสัปดาห์ที่ 29 ก.ค.- 2 ส.ค. 56 และแนวโน้มในสัปดาห์ที่ 5-9 ส.ค. 56

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 5, 2013 16:41 —ThaiPR.net

Bangkok--5 Aug--ปตท. ฝ่ายกลยุทธ์และแผนธุรกิจ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานสรุปสถานการณ์น้ำมันในสัปดาห์ล่าสุดที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 0.39 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 108.11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตามน้ำมันดิบเวสท์ เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 0.45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลอยู่ที่ 105.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ปรับตัวลดลง 0.13 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 104.80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 1.85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 117.49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 0.48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 123.26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ - สำนักสารสนเทศพลังงานของสหรัฐฯ (Energy Information Administration หรือ EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 ก.ค. 56 เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 สัปดาห์ โดยเพิ่ม 400,000 บาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 364.6 ล้านบาร์เรล - Conference Board รายงานดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของสหรัฐฯ (Index of Consumer Attitudes) ในเดือน ก.ค. 56 ลดลง 1.8 จุด จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 80.3 จุด ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชะลอตัว ส่งผลให้การฟื้นตัวไม่ชัดเจน - นักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยงเนื่องจากกังวลต่อการประชุมนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ วันที่ 30-31 ก.ค. - รัฐบาลจีนสั่งการบริษัทกว่า 1,400 รายใน 19 อุตสาหกรรม ให้ลดกำลังการผลิตส่วนเกิน โดยหยุดสายกำลังการผลิตที่ล้าสมัย (Outdated Capacity) ภายในเดือน ก.ย. 56 และปิดดำเนินการภายในสิ้นปี 56 ปัจจัยที่ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก - คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) รายงานดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ (Economic Sentiment Index ซึ่งสำรวจทั้งผู้บริโภคและธุรกิจของยูโรโซนในเดือน ก.ค. 56 สูงสุดในรอบ 15 เดือน โดยเพิ่มขึ้น 1.2 จุด จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 92.5 จุด - สำนักงานสถิติแห่งชาติของสหราชอาณาจักรรายงานอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาส 2/56 ขยายตัว 1.4% จากปีก่อนหน้า หรือ 0.6% จากไตรมาสก่อนหน้า - กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาส 2/56 อยู่ที่ 1.7% จากไตรมาสก่อนหน้า พร้อมทั้งมีการปรับแก้ GDP ในปี 55 มาอยู่ที่ 2.8% จากปีก่อนหน้า จากเดิมที่ 2.2% แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากอุปทานตึงตัว โดยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC ในเดือน ก.ค. 56 ลดลง จากปัญหาของประเทศสมาชิก อาทิ การประท้วงปิดท่าส่งออกสำคัญในลิเบีย ได้แก่ Es Sider, Ras Lanuf และ Zueitina กำลังการส่งออกรวม 900,000 บาร์เรลต่อวัน รวมทั้งผู้ผลิตในไนจีเรียถูกโจรกรรมน้ำมันดิบจากท่อขนส่ง โดยบริษัท Shell รายงานการผลิตน้ำมันดิบบนฝั่งลดลงอยู่ที่ 158,000 บาร์เรลต่อวัน จากระดับเฉลี่ยในไตรมาส 2/55 ที่ 260,000 บาร์เรลต่อวัน ประกอบกับสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ หลังกลุ่มก่อการร้าย al-Qaeda ขู่โจมตี ทำให้สหรัฐฯ ประกาศปิดสถานทูตและสถานกงสุล รวม 21 แห่งเมื่อวันที่ 4 ส.ค. 56 โดย 19 แห่งจะปิดทำการถึงวันที่ 10 ส.ค. และสหราชอาณาจักรปิดสถานทูตในเยเมนถึงวันที่ 6 ส.ค.อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชะลอตัวทำให้ภาพการฟื้นตัวไม่ชัดเจน อาทิ การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ และกระทรวงพาณิชย์ปรับลดยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน (Durable Goods) ลง 0.3% จากการรายงานครั้งก่อนหน้า สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ Brent จะเคลื่อนไหวในกรอบ 107.83-110.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล WTI จะเคลื่อนไหวในกรอบ 105.75-109.30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ Dubai จะเคลื่อนไหวในกรอบ 104.03-108.72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน อุปสงค์การนำเข้าน้ำมันเบนซินจากอินโดนีเซียชะลอตัว โดยคาดว่าในเดือน ก.ย. 56 จะอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 10 ล้านบาร์เรลต่อเดือน ทั้งนี้ ในเดือน ก.ค.และส.ค. 56 นำเข้าที่ระดับสูงกว่า 10 ล้านบาร์เรลต่อเดือน อย่างไรก็ตามโรงกลั่น Kaohsiung ในไต้หวันของบริษัท CPC อาจไม่สามารถส่งออกในเดือน ก.ย. 56 เนื่องจากปิดซ่อมบำรุงหน่วยผลิต Gasoline ขนาด 80,000 บาร์เรลต่อวัน เป็นเวลานาน 2 เดือน และปิดดำเนินการหน่วยกำจัดกำมะถันขนาด 30,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างไม่มีกำหนดหลังเกิดเหตุก๊าซรั่วในวันที่ 31 ก.ค. 56 สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 จะเคลื่อนไหวในกรอบ 116.73-121.42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล อินเดียส่งออกน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นเนื่องจากความต้องการในประเทศลดลงในฤดูมรสุม ประกอบกับรัฐบาลปรับลดการอุดหนุนราคาขายปลีก ส่งผลให้ส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซินกับดีเซลลดลง อย่างไรก็ตามอุปทานจากไต้หวันอาจตึงตัว สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวในกรอบ 123.03-127.72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ