กรุงเทพฯ--6 ส.ค.--บลจ.บัวหลวง
Bualuang House View
บลจ.บัวหลวง จำกัด
6 สิงหาคม 2556
ทีมงานจัดการกองทุนบัวหลวง โดย พิชา เลียงเจริญสิทธิ์
หากติดตามข่าวสารการลงทุนเป็นประจำ หลายท่านคงพบพาดหัวข่าวเกี่ยวกับปัจจัยลบต่อตลาดหุ้นมากขึ้นในช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจไทยชะลอตัวบ้างละ ส่งออกไทยไม่ดีบ้างละ ไหนจะมีเรื่องเงินทุนต่างชาติไหลออก และยังจะมีความกังวลเกี่ยวกับ ‘ความคุกรุ่นทางการเมือง’ ที่ทำให้ปวดหัวเป็นพักๆ อีกเพราะไม่รู้ว่าสุดท้ายผลจะออกมาเป็นยังไง บรรยากาศการลงทุนในหุ้นช่วงนี้จึงดูยาก ไม่สดใสเหมือนปีที่แล้ว
ผมจึงขอเสนอเรื่องราวของนักลงทุนท่านหนึ่งที่เคยผ่านช่วงภาวะยากลำบากมาแล้วหลายครั้ง เพื่อเป็นอุทธาหรณ์เตือนใจให้ท่านผู้อ่านบ้างครับ
ท่านที่เคยอ่านหนังสือเศรษฐศาสตร์พื้นฐานคง จะต้องเคยได้ยินชื่อ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ผู้ที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อแนวคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ แต่อาจจะมีน้อยคนที่ทราบว่า นอกจากการเป็นนักเศรษฐศาสตร์ระดับตำนานของโลกแล้วเคนส์ยังเป็นนักลงทุนมืออาชีพที่เก่งกาจมากอีกด้วย โดยเขาเป็นผู้จัดการกองทุนให้มหาวิทยาลัย King’s College มหาวิทยาลัย Cambridge และบริษัทประกันอีกหลายแห่ง ลงทุนในหลักทรัพย์หลายประเภท ตั้งแต่ หุ้น พันธบัตร สินค้าโภคภัณฑ์ ตลอดจนถึงอัตราแลกเปลี่ยน
แต่การลงทุนที่สร้างความสำเร็จและความมั่งคั่งให้เขาก็คือ หุ้นสามัญทั้งในประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา
หัวใจสำคัญของความสำเร็จในการลงทุนของเคนส์
1. เลือกการลงทุนในหุ้นเพียงไม่กี่ตัว โดยทำความเข้าในหุ้นตัวนั้นเป็นอย่างดี และเลือกซื้อหุ้นที่มีราคาตลาดต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง (Intrinsic Value) ในระยะยาว
2. ถือครองหุ้นที่ลงทุนอย่างเหนียวแน่น ทั้งในช่วงตลาดขาขึ้นและขาลง จนกว่าราคาหุ้นจะสะท้อนมูลค่าของมันอย่างเต็มที่ หรือขายออกเมื่อมาพบในภายหลังว่ามันเป็นการตัดสินใจลงทุนที่ผิดพลาด
3. กระจายความเสี่ยงในการลงทุนได้ดีพอ
การลงทุนของเคนส์นี้ดูจะคล้ายๆ กับแนวทางลงทุนของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) นักลงทุนระดับตำนานในปัจจุบันที่เป็นที่รู้จักกันดี นั่นเป็นเพราะว่าบัฟเฟตต์ได้อิทธิพลทางแนวคิดหลายอย่างมาจากเคนส์ ซึ่งบัฟเฟตต์เองได้เคยกล่าวยกย่องเคนส์ว่า เป็นผู้มีความยอดเยี่ยมในฐานะนักลงทุนเช่นเดียวกับในฐานะนักคิด (“brilliance as a practicing investor matched his brilliance in thought”)
ในช่วงปี 1924-1946 กองทุน Chest Fund ของเคนส์สามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณปีละ 12% ซึ่งอาจจะไม่ได้โดดเด่นอะไรนักถ้าเทียบกับนักลงทุนชื่อดังหลายๆ คนในสมัยนี้ แต่ถ้าเทียบกับดัชนีหุ้นของอังกฤษในช่วงเดียวกันนั้นที่ติดลบ 15% ก็จะเห็นว่าผลตอบแทนของเคนส์สูงกว่าดัชนีอย่างน่าทึ่งทีเดียว
ยิ่งไปกว่านั้น ช่วงเวลาที่เคนส์ลงทุนก็มีเหตุการณ์ที่ร้ายแรงมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เหตุการณ์ Black Monday ปี 1929 ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรงทั่วโลกช่วงทศวรรษ 1930 (Great Depression) รวมถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วย แถมตัวเองยังเคยถูกระเบิดของเยอรมันมาทิ้งลงใกล้ๆ บ้าน แต่โชคดีที่ระเบิดไม่ทำงาน
จะเห็นว่าในช่วงเวลาที่เคนส์ลงทุนนั้นเป็นช่วงที่ยากลำบากเอามากๆ แม้แต่บัฟเฟตต์เองที่ลงทุนมากว่า 50 ปี ก็ยังไม่เคยเจอเหตุการณ์ที่ร้ายแรงได้สาหัสขนาดนั้นเลย
เคนส์บอกว่าความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ราคาหุ้นมีความผันผวนอยู่เสมอด้วยเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา หรือผลประกอบการที่ผันผวนในระยะสั้น แต่มันไม่ได้เกี่ยวข้องกับมูลค่าที่แท้จริงในระยะยาวเท่าไหร่ ในช่วงที่ตลาดไม่ดีซึ่งทำให้ราคาหุ้นร่วงลงมามากจนต่ำกว่าราคาพื้นฐานที่ควรจะเป็น เคนส์ก็เลือกที่จะไม่ขายเพราะเชื่อว่าการขายหุ้นที่ราคาต่ำมากๆ ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาจากการที่ไม่ได้ขายหุ้นตอนราคาสูงๆ
ตัวอย่างประวัติศาสตร์ของตลาดหุ้นในช่วงที่มีเหตุการณ์ ‘สุดขั้ว’ ในอดีต
เยอรมัน
ตลาดหุ้นของประเทศเยอรมนีในช่วงต้นปี 1922-23 ซึ่งเกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรงมาก (Hyperinflation) ทำให้ราคาข้าวของเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในทุกๆ สองวัน จนเงินและพันธบัตรสกุลมาร์คหมดค่าลงอย่างรวดเร็ว แต่ตลาดหุ้นกลับสามารถเป็นสินทรัพย์ที่ปกป้องความมั่งคั่งของนักลงทุนไว้ได้ และยังเพิ่มความมั่งคั่งได้อีกด้วย
ตลาดหุ้นของเยอรมันหลังเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากตลาดหุ้นของเยอรมันถูกปิดลงในปี 1943 ซึ่งขณะนั้นดัชนีอยู่ที่ 27.75 แต่หลังจากแพ้สงครามและประเทศเสียหายอย่างหนัก ตลาดหุ้นเยอรมันเปิดอีกครั้งในปี 1948 ที่ดัชนี 0.76 แต่หลังจากนั้น ในช่วงทศวรรษ 1950 ดัชนีหุ้นได้เพิ่มขึ้นอย่างมากจนไปถึง 92.03 จุดในปี 1960 นี่เป็นตัวอย่างของกรณีที่รุนแรงที่สุดซึ่งเหตุการณ์ได้ส่งผลระทบต่อพื้นฐานของหุ้นอย่างมาก จริงๆ ในช่วงนั้นเรื่องเงินทองคงจะไม่ใช่เรื่องสำคัญแล้วก็เป็นได้
ฝรั่งเศส
ตลาดหุ้นของฝรั่งเศสช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มาแปลก เพราะกลายเป็นว่าเมื่อเกิดสงคราม ดัชนีหุ้นกลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และแม้จะรบแพ้เยอรมันในช่วงแรก แต่ดัชนีหุ้นกลับยังเพิ่มขึ้นต่อไปอีกหลายเท่า โดยดัชนีหุ้นไปทำระดับสูงสุดตอนที่สามารถยึดกรุงปารีสกลับคืนมาได้
การตัดสินใจซื้อขายหุ้นของเคนส์จะยึดเอามูลค่าที่แท้จริงเป็นเกณฑ์ โดยเลือกลงทุนในหุ้นที่มีงบดุลที่แข็งแกร่ง มีแนวโน้มทางธุรกิจที่ดี และเขาต้องสามารถเข้าใจในวิธีการทำรายได้ของบริษัทนั้น ถึงจะซื้อลงทุน
แต่ทั้งนี้ เคนส์ไม่ใช่นักลงทุนประเภทซื้อและหลับตาถือ โดยเขาให้ความสำคัญกับการเป็น ‘Active Investor’ ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนมุมมองการลงทุนให้สอดคล้องไปตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย เพราะไม่มีใครสามารถคาดการณ์เหตุการณ์ล่วงหน้าได้แม่นยำ 100% ซึ่งนี่เป็นความสำคัญของการกระจายการลงทุนให้มากเพียงพอ แต่ต้องไม่มากเกินไปเพราะการจะทำความเข้าใจหุ้นจำนวนมากได้อย่างดีนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยข้อจำกัดทั้งด้านความรู้และเวลา
ก่อนหน้านี้เคนส์เคยเป็นทั้งนักเก็งกำไรและลงทุนด้วยการคาดการณ์วงจรของเศรษฐกิจ (Top-down) แต่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จมากนัก แม้จะเป็นนักเศรษฐศาสตร์ระดับปรมาจารย์แต่เคนส์กลับพบว่า เขาไม่ได้มีทักษะที่ทำให้เกิดความได้เปรียบเหนือกว่าคนอื่นในการคาดการณ์ทิศทางตลาด แต่ด้วยวิธีการลงทุนด้วยการคัดเลือกหุ้นของบริษัทที่ดีเป็นรายตัว (Bottom-up) และถือลงทุนระยะยาวผ่านทั้งช่วงที่ดีและร้ายนี้เองที่ทำให้เคนส์สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยเป็นเวลายาวนาน
นี่คือตัวอย่างของความสำเร็จในอดีตของทั้ง เคนส์ รวมทั้ง บัฟเฟตต์ ที่พิสูจน์ผ่านประวัติศาสตร์ของตลาดหุ้นมาเกือบ 100 ปี
ทีมจัดการกองทุนของ บลจ.บัวหลวง จึงเชื่อมั่นในแนวทางการลงทุนในลักษณะ Bottom-Up ซึ่งเป็นหลักการสำคัญที่ บลจ.ยึดมั่นมาโดยตลอด ว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจให้ผู้ลงทุนได้ในระยะยาว ดังนั้น แม้ว่าจะมีเหตุการณ์ความน่ากังวลต่างๆ ที่ทำให้เกิดความผันผวนในตลาดหุ้น แต่ก็ไม่ได้เป็นประเด็นที่มีนัยสำคัญต่อการลงทุนระยะยาวของเราเลย เพราะเราให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่ลงทุนมากกว่าดัชนีตลาดหุ้น
จริงอยู่ว่าบางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นอาจจะดูรุนแรง แต่มันเทียบไม่ได้เลยกับเหตุการณ์ที่จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ เคยพบเจอ และในที่สุดมันก็จะผ่านพ้นไป
Disclaimer: ข้อมูลในเอกสารนี้ รวบรวมจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ ทั้งนี้ บลจ.บัวหลวง ไม่สามารถยืนยันหรือรับรองความถูกต้องของข้อมูลดังกล่าว และไม่ว่ากรณีใด บทวิเคราะห์ในเอกสารนี้ มิได้เป็นการชี้นำในการตัดสินใจ หรือโฆษณาการดำเนินธุรกิจของบริษัท การตัดสินใจใดๆ ของผู้อ่าน ล้วนเป็นการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน ซึ่ง บลจ.บัวหลวง ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือพันธะผูกพันใดๆ ทั้งสิ้น