กทม.ร่วมกับ 3 หน่วยงาน หารือแผนปฏิบัติตรวจ-จับรถควันดำ-ควันขาว

ข่าวทั่วไป Friday October 10, 1997 09:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--10 ต.ค.--กทม.
ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร วันที่ 8 ก.ย. 40 เวลา 15.00 น. ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เดินทางมาร่วมประชุมและมอบนโยบายแผนปฏิบัติการร่วม ตรวจสอบ ตรวจจับรถที่มีมลพิษเกินมาตรฐาน โดยมีดร.พิจิตต รัตตกุล ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะผู้บริหารกทม. ข้าราชการระดับบริหารของกทม. อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก รองอธิบดีกรมตำรวจ รองผบ.ชน. ผู้บังคับการตำรวจจราจร ร่วมประชุม
ภายหลังการประชุมฯ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า การประชุมในวันนี้เป็นการประชุมหารือร่วมกันระหว่าง พ.ต.อ.สล้าง บุนนาค รองอธิบดีกรมตำรวจ พล.ต.ท.ทวี ทิพย์รัตน์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ท.ประจิต ศรีชัยนันท์ ผู้บังคับการตำรวจจราจร และคณะผู้บริหารของกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการร่วม ตรวจสอบ ตรวจจับรถที่มีควันดำ-ควันขาว ที่ก่อให้เกิดมลพิษเกินมาตรฐาน ซึ่งกรุงเทพมหานครได้ออกประชาสัมพันธ์และประกาศเตือนประชาชนมาตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2540 เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบและนำรถไปตรวจสภาพเครื่องยนต์ก่อนที่จะเริ่มมาตรการจับ-ปรับรถที่มีควันดำ-ควันขาว ในวันที่ 14 ตุลาคม 2540 ทั้งนั้ข้อสรุปของแผนปฏิบัติการได้รับการสนับสนุนและแก้ไขจากกรมการขนส่งทางบก และกรมควบคุมมลพิษ
นายสุทิน สังข์มงคล รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในวันที่ 14 ตุลาคม นี้ ซึ่งเป็นวันเริ่มมาตรการจับ-ปรับรถที่มีควันดำ-ควันขาวจะมีเจ้าหน้าที่เทศกิจ ตำรวจ กรมควบคุมมลพิษ และกรมขนส่งทางบก ตั้งด่านทั้งหมด 20 จุด ในเขตกรุงเทพมหานคร ส่วนมาตราการเปรีบเทียบผู้กระทำผิด กรุงเทพมหานครได้หารือกับกรมตำรวจแล้วว่า จะปรับโดยกรมตำรวจไม่เกิน 500 บาท สำหรับผู้ฝ่าฝืน โดยใช้กฎหมายเกี่ยวกับการจราจรทางบก
พล.ต.ต.ประจิต ศรีชัยยันต์ ผู้บังคับการตำรวจจราจรกล่าวถึงการปฏิบัติการร่วมตรวจสอบและจับปรับรถควันดำ-ควันขาว ว่า ทั้ง 4 หน่วยงาน จะร่วมกันดำเนินการทั้งด้านกำลังเจ้าหน้าที่ และอุปกรณ์ในการตรวจวัด โดยในแต่ละจุดจะดำเนินการ 4 ขั้นตอน คือ 1.สังเกตการณ์รถที่มีควันดำ 2.เรียกรถที่เห็นว่ามีควันดำเข้ามาตรวจสอบ 3.จัดระเบียบ และ 4.ดำเนินการตรวจวัด โดยในการตรวจสอบจะเรียกรถที่เห็นว่ามีควันดำเข้ามาตรวจครั้งละไม่เกิน 3 คัน และจะตรวจวัดให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาจราจร สำหรับรถที่ตรวจวัดแล้วพบว่ามีควันดำเกิน 70% ผู้ขับรถจะถูกยึดใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ และตำรวจจะออกใบสั่งให้ผู้ขับขี่ไปเสียค่าปรับต่อไป จากนั้นรถคันดังกล่าวจะต้องไปดำเนินการแก้ไข ปรับปรุง เพื่อไม่ให้ควันดำ-ควันขาว เกินกำหนดโดยสามารถไปตรวจเช็คตามสถานที่ที่กทม.กำหนดเป็นสถานที่ตรวจเช็คควันดำ-ควันขาว ซึ่งทางกทม. จะออกหนังสือรับรองให้ในกรณ๊ที่ตรวจแล้วไม่เกินกำหนด แต่รถที่ไม่มีใบรับรองจากกทม. เมื่อเจ้าของรถมาเสียค่าปรับ ทางกรมตำรวจจะตรวจวัดอีกครั้ง เมื่อพบว่าควันดำควันขาวไม่เกินกำหนด จึงจะอนุญาตให้ใช้รถคันดังกล่าว ทั้งนี้อัตราค่าปรับรถที่มีควันดำ-ควันขาวจะปรับในอัตราต่ำสุด คือ 500 บาท เนื่องจากทาง กทม. ได้ให้ความเห็นว่า มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการที่เพิ่งเริ่มดำเนินการจับปรับจริง ประกอบกับขณะนี้ประชาชนก็ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจด้วย
ผู้บังคับการตำรวจจราจร กล่าวต่อไปว่า สำหรับสถานที่ที่ประชาชนจะต้องไปเสียค่าปรับ และรับใบขับขี่คืน มี 8 แห่งคือสถานที่ของกรมตำรวจได้แก่ สน.ทางด่วนขั้นที่ 1 (ท่าเรือ) สน.ทางด่วนขั้นที่ 2 (ถนนแจ้งวัฒนะ) สน.วิภาวดีรังสิต และสน.ทางด่วน 3 ส่วนอีก 4 แห่ง เป็นสถานที่ของกรมการขนส่งทางบก ได้แก่ กรมการขนส่งทางบก ลาดพร้าว และส่วนแยกของกรมการขนส่งทางบกที่ตลิ่งชัน บางขุนเทียน และพระโขนง อย่างไรก็ดีเพื่อให้การร่วมปฏิบัติการเป็นไปด้วยความเรียบร้อยในวันศุกร์ที่ 10 ต.ค. 40 เวลา 10.00 น. กองบังคับการตำรวจจราจรจะดำเนินการอบรมเจ้าหน้าที่ ซึ่งทางกรุงเทพมหานครก็จะส่งเจ้าหน้าที่ไปร่วมอบรมและชมการสาธิตในครั้งนี้ด้วย
ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้เปิดศูนย์บริการตรวจควันดำ-ควันขาวขึ้น เพื่อบริการประชาชนฟรี โดยใช้สถานที่ของโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร 8 แห่ง ในพื้นที่เขตดินแดงราษฎร์บูรณะ ปทุมวัน หนองแขม หนองจอก ลาดพร้าว คลองเตย และเขตตลิ่งชัน
ดร.หรรษา สงวนน้อย ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการรณรงค์มาตรการจับปรับรถที่มีควันดำ-ควันขาว ว่า เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรักษาสภาพรถของตนไม่ให้มีควันดำ-ควันขาว เป็นการลดมลพิษทางอากาศ และเมื่อจุดสกัดเรียกตรวจแล้ว ตำรวจจะเป็นผู้ออกใบสั่งกำหนดระยะเวลาให้แก้ไข รวมทั้งจะมีเอกสารแนะนำการรักษารถพร้อมรายชื่อของอู่รถที่ท่านสามารถนำไปเช็คสภาพรถได้
ทางด้าน ดร.ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ที่ปรึกษาผู้ว่ากทม. กล่าวว่า สำหรับมลพิษที่เกิดจากเรือหางยาว กทม.จะใช้มาตรการเดียวกับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยมีกรมเจ้าท่าเข้ามาร่วมดำเนินการด้วย ซึ่งจะได้มีการหารือเกี่ยวกับมาตรการดังกล่าวเร็ว ๆ นี้--จบ
ดร.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ