รมว.พม. หารือร่วมกับ กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงแรงงาน และสำนักงานตำรวจฯ เรื่องการป้องกันและปราบปรามปัญหาการค้ามนุษย์

ข่าวทั่วไป Wednesday August 7, 2013 11:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ส.ค.--พม. นางปวีณา หงสกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสตร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นางปราณิน มุตตาหารัช รองปลัดกระทรวงแรงงาน และ พล.ต.อ. ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ที่ปรึกษา สบ.๑๐ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้าพบเพื่อหารือ เรื่องการป้องกันและปราบปรามปัญหาการค้ามนุษย์ ณ ห้องประชุมชั้น ๘ อาคารใหม่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ นางปวีณา หงสกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า เนื่องจากสหรัฐอเมริกาได้จัดระดับประเทศไทยในประเด็นปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ให้อยู่ในระดับ ๒ ที่ต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) เป็นเวลา ๔ ปีติดต่อกัน (ปี ๒๕๕๓—๒๕๕๖) ซึ่งสหรัฐฯ ให้ความสนใจเป็นพิเศษกับการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานประมง ซึ่งหลายประเด็นถูกกล่าวหาและพาดพิงตลอด ๔ ปีติดต่อกัน ได้แก่ ประเด็นที่ ๑ การเพิ่มความพยายามในการตรวจสอบแรงงานเป็นวิธีหลักของรัฐบาลสำหรับตรวจหากรณีการบังคับใช้แรงงานภายในประเทศ จากการตรวจสอบสถานประกอบการจำนวน ๕๔,๐๙๐ แห่ง พบการกระทำผิดหลายพันกรณีที่บ่งชี้ถึงการค้ามนุษย์ อาทิ การหักค่าแรงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหางานและการยึดหนังสือเดินทาง แต่กลับพบการบังคับใช้แรงงานเพียงสองกรณีเท่านั้น รัฐบาลล้มเหลวเชิงระบบในการสืบสวนสอบสวนกรณีที่อาจเข้าข่ายการค้ามนุษย์ที่พบจากการตรวจสอบแรงงานในสถานประกอบการ ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๕ กระทรวงแรงงานออกนโยบายกำหนดให้สำนักงานจังหวัดเข้าตรวจสอบสถานประกอบการว่ามีปัจจัยบ่งชี้ถึงการค้ามนุษย์หรือสภาพพันธนาการหนี้หรือไม่ ซึ่งรวมถึงการหักค่าแรงหรือการยึดหนังสือเดินทางโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ยังคงไม่มีรายงานการตรวจพบคดีการค้ามนุษย์ด้วยวิธีการนี้ ประเด็นที่ ๒ กระบวนการที่จะทำให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาเป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้นมีค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่ถูกเรียกเก็บจากนายหน้าจัดหางานที่ไม่มีใบอนุญาตและไม่มีการควบคุมกำกับดูแลจากทางการ เป็นปัจจัยส่งเสริม ให้แรงงานต่างด้าวเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์และติดอยู่ในพันธนาการหนี้ รัฐบาลไม่ได้จัดการแก้ไขปัญหาระบบราชการที่ซับซ้อนของกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ หรืออุปสรรคทางภาษาของบุคคลต่างด้าวที่ต้องการเข้ารับการพิสูจน์สัญชาติ รวมถึงอุปสรรคอื่นๆที่ทำให้แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่หันไปพึ่งพานายหน้าจัดหาแรงงาน ซึ่งทำงานแบบไม่มีกฎหมายหรือระเบียบกำกับเพื่อเข้าถึงโครงการดังกล่าว จึงเสี่ยงต่อการถูกนายหน้าแสวงประโยชน์และข่มขู่กรรโชก ประเด็นที่ ๓ หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ กระทรวงแรงงานและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร่วมกันจัดทำแผนการดำเนินงานต่อต้านการค้ามนุษย์ ซึ่งประกอบด้วยแผนสร้างศูนย์ประสานงานแรงงาน ๗ แห่ง เพื่อรับมือกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมประมงและจัดตั้งศูนย์กลางการจัดหางานสำหรับผู้ที่มีศักยภาพจะเป็นแรงงาน ถึงแม้รัฐบาล จะทราบว่าปัญหาการขาดแคลนแรงงานส่วนใหญ่เกิดจากการที่แรงงานบางคนไม่เต็มใจทำงานในอุตสาหกรรมประมง เพราะมีสภาพการทำงานที่เสี่ยงต่อการถูกแสวงประโยชน์ แต่ในช่วงปีที่ผ่านมา รัฐบาลก็ไม่ได้พยายามปรับปรุงสภาพเหล่านั้นให้ดีขึ้น กรมเจ้าท่าและกองทัพเรือไทยตรวจสอบเรือ ๖๐๘ ลำในช่วงปีที่ผ่านมา แต่ไม่พบกรณีการค้ามนุษย์ รัฐบาลไม่ได้รายงานว่ากลวิธีที่ใช้ในการตรวจสอบผู้ครอบครองเรือและการขึ้นทะเบียนเรือได้รับการออกแบบมาให้ตรวจหากรณีการค้ามนุษย์ได้อย่างไร ประเด็นที่ ๔ รัฐบาลรายงานความพยายามต่อเนื่องเพื่อมุ่งจัดการปัญหาแรงงานเด็กและการบังคับ ใช้แรงงานในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเล โดยเป็นส่วนหนึ่งของแผนการดำเนินงานร่วมระหว่างกระทรวงแรงงานและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แม้จะไม่ทราบแน่ชัดว่าความพยายามเหล่านี้จะทำให้มีการดำเนินคดีทางอาญากับนัก ค้ามนุษย์เพิ่มขึ้นหรือช่วยให้คัดแยกเหยื่อได้มากขึ้นอย่างไร ไม่มีรายงานผลเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวในช่วงการจัดทำรายงานฉบับนี้ การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เข้มงวด แหล่งทรัพยากรมนุษย์และการเงินที่ไม่เพียงพอ และความร่วมมือ ที่ขาดความต่อเนื่องในหมู่หน่วยงานควบคุมกฎระเบียบในอุตสาหกรรมประมง มีส่วนส่งเสริมให้ผู้ที่แสวงประโยชน์ จากแรงงานในภาคอุตสาหกรรมนี้มักรอดพ้นจากการถูกลงโทษ และ ประเด็นที่ ๕ ในช่วงปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบการของบริษัทจัดหาแรงงานหนึ่งแห่ง และระงับใบอนุญาตประกอบการของบริษัทจัดหาแรงงาน ๔๓ แห่งเนื่องจากพบการกระทำผิดกฎหมาย ไม่มีบริษัทจัดหาแรงงาน ถูกลงโทษด้วยข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานหรือการค้ามนุษย์ในช่วงปีที่ผ่านมา นางปวีณา กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการถูกกล่าวหาและพาดพิงตลอด ๔ ปี ใน ๕ ประเด็นที่กล่าวมา กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จึงมีความประสงค์ขอความร่วมมือหน่วยงานและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ ๑.การบ่งชี้การค้ามนุษย์ด้านแรงงาน การใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับ การค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เป็นประเด็นที่ทับซ้อนกับการกระทำผิดกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ดังนั้น การให้ความรู้แก่พนักงานตรวจแรงงาน เพื่อให้เข้าใจถึงความหมายของการค้ามนุษย์ เทคนิคและวิธีการบ่งชี้การค้ามนุษย์ จึงเป็นเรื่องสำคัญ และกระทรวงแรงงานจะต้องบูรณาการการตรวจแรงงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพ โดยเฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงกองทัพเรือ กองบังคับการตำรวจน้ำ กรมเจ้าท่า กรมประมง ในการตรวจค้นการค้ามนุษย์ในรูปแบบแรงงานประมง นอกจากนี้ ความเชื่อมโยงกับการค้ามนุษย์ เช่น การยึดหนังสือเดินทาง แรงงานขัดหนี้ ขอให้กระทรวงแรงงานกำหนดและตีความให้ชัดว่าเป็นการค้ามนุษย์รูปแบบหนึ่งหรือไม่ เพื่อให้แนวทางปฏิบัติในเรื่องนี้เกิดความชัดเจน และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และ ๒.ศูนย์ประสานแรงงานประมง จำนวน ๗ แห่ง ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร ระยอง ตราด ชุมพร สงขลา ระนอง และสตูล (ทั้งนี้ ครอบคลุมจังหวัดที่มีพื้นที่ติดทะเล รวมทั้งสิ้น ๒๒ จังหวัด) ขอให้เร่งรัดการออกกฎ ระเบียบ และแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน ในการดำเนินงานและบริหารจัดการศูนย์ประสานแรงงานประมงดังกล่าวให้เป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๕๕ เนื่องจากเป็นประเด็นที่สหรัฐฯ ให้ความสนใจ และประสงค์จะไปดูงานด้วยตนเองหากมีความคืบหน้าในเรื่องนี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ