กรุงเทพฯ--8 ส.ค.--โฟร์ พี แอดส์
โรคไข้หวัดใหญ่อาจจะฟังดูธรรมดา แต่เวลาป่วยขึ้นมาอาจแย่ได้เหมือนกัน โดยเฉพาะกับกลุ่มเสี่ยงอย่างผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์หากไม่ดูแลตัวเอง ปล่อยให้เป็นไข้หวัดใหญ่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงเป็นอันตรายทั้งต่อแม่และลูกในครรภ์จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ในระยะเวลาอันสั้น
เมื่อเร็วๆนี้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้จัดการประชุมวิชาการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 5 ขึ้นที่โรงแรมดิ เอมเมอรัลด์ รัชดา ในงานมีการนำเสนอผลงานวิชาการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาวัคซีนที่น่าสนใจ รวมถึงผลงานการวิจัยของ ดร.ปราบดา ประภาศิริ นักระบาดวิทยา ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข (TUC) ในหัวข้อ “การยอมรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในหญิงตั้งครรภ์:ผลสะท้อนจากการสำรวจความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติต่อวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในหญิงตั้งครรภ์และแพทย์ทั่วประเทศ”
ย้อนหลังไปเมื่อประมาณปี2552 เมื่อครั้งเกิดการระบาดของไข้หวัด 2009 ขึ้นในประเทศไทย พบผู้ป่วยกว่า 9แสนราย ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยที่มีอาการแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดบวม จนถึงขั้นเสียชีวิต ถึง 3% ส่ง ผลให้รัฐบาลตื่นตัวหาวิธีป้องกันและยับยั้งความรุนแรงของโรคในผู้ป่วยกลุ่ม ที่มีความเสี่ยงสูงได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่นโรคปอดอุดกั้น หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง เบาหวาน ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็ง ที่ได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด และสตรีที่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์ โดยจัดให้มีการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ให้ฟรีสำหรับกลุ่ม เสี่ยงเหล่านี้ แต่ด้วยความรู้เกี่ยวกับวัคซีนที่ยังมีน้อยและยังไม่มีการใช้อย่างแพร่หลาย จึงทำให้ว่าที่คุณแม่ทั้งหลายไม่เชื่อมั่นว่าวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ที่รัฐให้ฟรีนี้ จะทำให้เธอและลูกในท้องปลอดภัย ประกอบกับในช่วงแรกมีข่าวคนท้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่แล้วเกิด อาการแท้ง แม้ในความเป็นจริงสาเหตุของการแท้งจะไม่ได้มาจากวัคซีน แต่ก็ทำลายความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยจากการได้รับวัคซีนลงไปมาก
ดร.ปราบดา กล่าวว่า จากข้อมูลการสำรวจความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติต่อวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในหญิงตั้งครรภ์ทั่วประเทศอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 947 ราย โดยการให้ตอบแบบสอบถามด้วยตนเอง พบว่าหญิงตั้งครรภ์มีความต้องการที่จะรับวัคซีนนี้ถึง 60% ส่วนใหญ่มีความเห็นว่าวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่มีประโยชน์ต่อหญิงท้องและเด็กทารกในครรภ์
องค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงในลำดับแรกต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เพราะเมื่อหญิงตั้งครรภ์ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่แล้วมีโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนที่รุนแรง ทำให้ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลและอาจเสียชีวิตได้ ถ้าหากได้รับวัคซีนขณะตั้งครรภ์นอกจากจะป้องกันไข้หวัดใหญ่ ในแม่ได้แล้วภูมิคุ้มกันยังผ่านรกจากแม่มาสู่ลูกในครรภ์ด้วย ทำให้เมื่อคลอดออกมาลูกจะมีภูมิคุ้มกันไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่แรกคลอดโดยไม่ต้อง ฉีดวัคซีน เพราะโดยปกติแล้วต้องรอให้อายุถึง 2 ปีก่อนเด็กจึงสามารถรับวัคซีนได้ การได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในหญิงตั้งครรภ์จึงเป็น การได้ประโยชน์ถึง 2 ต่อ แม่ได้รับประโยชน์โดยตรง ส่วนลูกได้รับประโยชน์โดยอ้อม
วัคซีนมีความปลอดภัยสูง ถือเป็นการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคที่ดี แต่ที่น่าห่วงคือความครอบคลุมการได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ของหญิงตั้งครรภ์ในประเทศไทยนั้นยังมีน้อยมาก มีเพียง 1-2% เท่า นั้น เทียบกับประเทศสหรัฐอเมริกา จากข้อมูลการสำรวจระหว่าง ปี 2011-2012 พบว่าหญิงตั้งครรภ์ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลมีความครอบคลุมถึง 36.5% ซึ่ง ต่างกันมากกับประเทศไทย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะข้อมูลการศึกษาในประเทศไทยเก็บในช่วงก่อนฤดูการรณรงค์ ให้วัคซีน จึงทำให้ความครอบคลุมการได้รับวัคซีนต่ำกว่าความเป็นจริง ถ้าทำการสำรวจในช่วงหลังการรณรงค์ ความครอบคลุมในการได้รับวัคซีนอาจสูงขึ้นเล็กน้อย
ทั้งนี้ในมุมมองของแพทย์ผู้ทำการรักษาจากการศึกษาพบว่าแพทย์ส่วนใหญ่คิดว่าหญิงตั้งครรภ์ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ วัคซีนมีความปลอดภัยต่อหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ และเป็นวิธีการป้องกันไข้หวัดใหญ่ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีประสิทธิภาพ แพทย์เฉพาะทาง(สูตินารีแพทย์)ที่ให้บริการหญิงตั้งครรภ์มีแนวโน้มที่จะให้วัคซีนให้กับหญิงตั้งครรภ์มากกว่าแพทย์ทั่วไป
อย่างไรก็ตามยังคงมีแพทย์จำนวนมากที่ไม่เคยสั่งใช้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในหญิงตั้งครรภ์ ถ้าหากแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้คำแนะนำและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ตลอดจนให้ความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยที่แม่และเด็กจะได้รับ อาจทำให้อัตราการรับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในหญิงตั้งครรภ์มากกว่านี้ ดร.ปราบดากล่าว