กรุงเทพฯ--13 ส.ค.--สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
นายคณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ได้ลงนามในหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.)เรื่อง กฎหมายเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมและการปรองดอง เสนอต่อนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และรัฐสภา เพื่อใช้ประกอบการพิจารณา
คปก. มีความเห็นว่า ความขัดแย้งทางการเมืองในครั้งนี้ มีคู่ความขัดแย้งแตกต่างจากความขัดแย้งทางการเมืองในอดีต เพราะเป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มบุคคลหลายฝ่าย และเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนด้วย ความปรองดองจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากยังไม่มีกระบวนการเพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม รวมทั้งเสนอให้มีการทบทวนเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติเพื่อให้เป็นไปตามหลักความชอบด้วยกฎหมาย (Legality) หลักการแบ่งแยกอำนาจ (Separation of Power) หลักนิติรัฐ (Legal State) หรือนิติธรรม (Rule of Law) และหลักสิทธิมนุษยชน (Human Rights) เพื่อให้การนิรโทษกรรมไม่เป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งการไม่ต้องรับผิดหรือผู้กระทำผิดลอยนวล (Impunity) ตลอดจนไม่เป็นการไปลบล้างสิทธิของเหยื่อหรือผู้เสียหายที่จะได้ทราบความจริง (Rights to Know) ซึ่งเป็นไปตามหลักความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice) เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมือง สร้างความเป็นธรรมแก่ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงซ้ำอีก เพื่อนำไปสู่การสร้างความปรองดองในอนาคต คปก. จึงเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมและการปรองดองในสองส่วนสำคัญ คือ 1.ความเห็นและข้อเสนอแนะในเชิงหลักการต่อร่างกฎหมายนิรโทษกรรมหรือการปรองดอง 2.ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่อง ในการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ.… ของนายวรชัย เหมะ
โดยคปก.มีความเห็นว่า ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมหรือการปรองดอง
ที่มีสาระสำคัญเป็นการยกเว้นการใช้กระบวนการทางกฎหมายและยกเว้นความรับผิดของผู้กระทำผิดโดยจะมีผลให้ผู้กระทำความผิดไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามวิธีการปกติ ดังนั้น การพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรมหรือการปรองดองจึงสมควรกระทำด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง โดยตั้งอยู่บนหลักการที่สำคัญ คือรัฐควรพิจารณาใช้มาตรการตามกระบวนการยุติธรรมปกติอย่างจริงจังเพื่อสร้างความยุติธรรมให้แก่ผู้เกี่ยวข้องที่ถูกดำเนินคดีหรือเพื่อลดความขัดแย้งเสียก่อน เช่น การปล่อยตัวชั่วคราว การถอนฟ้อง การอภัยโทษ ฯลฯ อีกทั้งการนิรโทษกรรมต้องมีผลให้เปลี่ยนผ่านสังคมแห่งความขัดแย้งไปสู่สังคมแห่งการปรองดอง ตามแนวทางที่สอดคล้องกับหลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สังคมพัฒนาก้าวหน้าต่อไปและป้องกันความรุนแรงไม่ให้กลับมาซ้ำรอยอีก รวมถึงการชดใช้เยียวยาและคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อของความรุนแรง
ดังนั้น การนิรโทษกรรมจะต้องกระทำควบคู่ไปกับการดำเนินกระบวนการและใช้กลไกอื่น ๆ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย เพื่อให้บรรลุความยุติธรรม ความจริง การช่วยเหลือเยียวยาเหยื่อของความรุนแรงและครอบครัว และการปฏิรูปหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ สังคมและสาธารณชนควรมีส่วนร่วมในกระบวนการปรองดองและร่วมในการพิจารณาร่างกฎหมายการนิรโทษกรรมหรือการปรองดองอย่างทั่วถึง
สำหรับความเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ของนายวรชัย เหมะ นั้นคปก.มีความเห็นที่สำคัญว่า ร่างฯดังกล่าวยังไม่สอดคล้องกับหลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice) เพราะสาระสำคัญของร่างกฎหมายมุ่งเน้นเพียงการนิรโทษกรรมแบบครอบคลุมทั่วไป โดยกำหนดให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิงตามมาตรา 3 และมาตรา 4 เป็นการมุ่งผลักดันให้มีการนิรโทษกรรมโดยไม่ดำเนินกระบวนการเพื่อความปรองดองอื่น ๆ ตามหลักความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านควบคู่ไปด้วย การเสนอและพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ เกิดขึ้นโดยไม่ได้นำกระบวนการยุติธรรมปกติมาใช้เพื่อสร้างความยุติธรรมและลดความขัดแย้งอย่างจริงจังเสียก่อน และดำเนินไปโดยปราศจากการมีส่วนร่วมและการเห็นพ้องต้องกันของฝ่ายอื่น ๆ ที่อยู่ในวังวนของความขัดแย้งเช่น ฝ่ายค้าน ภาคประชาสังคม และแม้แต่ญาติของผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง การเสนอและการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จึงไม่มีความเหมาะสมทั้งในด้านเวลาและสถานการณ์ ทั้งจะนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมให้ร้าวลึกยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ดังกล่าว ยังมีลักษณะเปิดช่องให้มีการตีความและการบังคับใช้ให้มีผลเป็นการยกเว้นบุคคลให้ไม่ต้องรับโทษแบบเหมารวมครอบคลุมเป็นการ เพราะยังไม่ได้กำหนดชัดเจนถึงลักษณะความผิดที่สมควรได้รับการนิรโทษกรรม การบัญญัติกฎหมายที่มีลักษณะกว้างเช่นนี้ไม่สอดคล้องกับหลักการสากล อีกทั้งเป็นการส่งเสริมให้ผู้ก่อความรุนแรงหรือละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ต้องรับผิด และจะมีการใช้ความรุนแรงต่อกันขึ้นอีกในอนาคต คปก. จึงมีความเห็นให้ทบทวนการกำหนดลักษณะความผิดที่ควรได้รับการนิรโทษกรรมอีกครั้งเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองตลอดจนกำหนดหลักเกณฑ์ กลไกและกระบวนการที่ชัดเจนในการกลั่นกรองและนิรโทษกรรม
รายละเอียดเพิ่มเติม : บันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะคปก.เรื่อง กฎหมายเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมและการปรองดอง
ติดต่อ:
สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย : OFFICE OF LAW REFORM COMMISSION OF THAILAND อาคารซอฟต์แวร์ ปาร์ค ชั้น๑๙ ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ๑๑๑๒๐ โทร.๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๘ โทรสาร. ๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๔