กรุงเทพ--13 พ.ย.--สำนักงานประกันสังคม
ประกันสังคมเพิ่มค่ารักษาเหมาจ่ายให้รพ.เป็นพันบาท รับต้นทุนการรักษาที่เพิ่มขึ้นจากการลอยตัวของค่าเงินบาท ย้ำรพ.ต้องคงไว้ซึ่งมาตรฐาน
นายจำลอง ศรีประสาธน์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เปิดเผยว่า จากการลอยตัวของค่าเงินบาทส่งผลให้ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ของโรงพยาบาลสูงขึ้น เนื่องจากอุปกรณ์ทางการแพทย์และตัวยาหลายอย่างต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ประกอบกับปัจจุบันผู้ประกันตนไปใช้บริการทางการแพทย์ในโรงพยาบาลประกันสังคมเพิ่มมากขึ้น และมีผู้ป่วยประกันสังคมจำนวนไม่น้อยที่เป็นโรคร้ายแรงมีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง ดังนั้นสำนักงานประกันสังคมจึงปรับค่ารักษาพยาบาลที่เดิมเหมาจ่ายในอัตรา 900 บาท เพิ่มเป็น 1,000 บาท โดยใช้หลักเกณฑ์ต่อไปนี้
1. สถานพยาบาลที่มีผู้ประกันตนไม่เกิน 50,000 คน จะจ่ายค่ารักษาเหมาจ่ายในอัตรา 1,000 บาท/คน/ปี
2. สถานพยาบาลที่มีผู้ประกันตนเกิน 50,000 คน จะจ่ายเป็น 2 อัตรา ดังนี้
- ผู้ประกันตน 50,000 คนแรก จ่ายให้ 1,000 บาท/คน/ปี
- ผู้ประกันตนส่วนที่เกินจาก 50,000 คนขึ้นไป จ่ายให้ 900 บาท/คน/ปี
เลขาธิการฯ กล่าวว่า เหตุผลที่มีการปรับค่าเหมาจ่ายเป็น 2 อัตรา ก็เนื่องจากตามหลักทั่ว ๆ ไปแล้ว ยิ่งโรงพยาบาลมีสมาชิกผู้ประกันตนมากเท่าไหร่ ต้นทุนโดยเฉลี่ยก็ย่อมจะลดลง สำนักงานฯ จึงกำหนดค่ารักษาเหมาจ่ายที่เคยจ่ายในอัตรา 900 บาท/คน/ปี ให้แก่โรงพยาบาลที่มีสมาชิกผู้ประกันตนเกินกว่า 50,000 คน ทั้งนี้อัตราดังกล่าวจะเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 41 เป็นต้นไป
เลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า เนื่องจากสำนักงานฯ ได้ประกาศลดเงินสมทบจาก 1.5% เป็น 1% ของค่าจ้างในปี 41-43 จึงทำให้หลายคนหวั่นว่า การลดเงินสมทบจะมีผลให้การบริการทางการแพทย์ที่ได้ลดมาตรฐานลง ดังนั้นการปรับเพิ่มค่ารักษาเหมาจ่าย นอกจากจะช่วยให้โรงพยาบาลไม่ต้องรับภาระหนักจากต้นทุนที่สูงขึ้นแล้ว ยังจะเป็นเครื่องยืนยันถึงความมั่นใจของผู้ประกันตนที่มีต่อบริการทางการแพทย์จากระบบประกันสังคมด้วย ซึ่งจะเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย และหากพบว่ามีโรงพยาบาลใดไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนดไว้หรืออ้างต้นทุนที่สูงขึ้นแล้วลดบริการ ขอให้ผู้ประกันตนแจ้งสำนักงานประกันสังคมเพื่อดำเนินการต่อไป--จบ--