กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--ศศินทร์
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงเผยผลการดำเนินงานโครงการต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เน้นปัญหาความยากจน สร้างชุมชนให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน หวังสร้างคุณภาพชีวิตและอาชีพให้กับผู้ด้อยโอกาส ชี้เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหายาเสพติดตามแนวตะเข็บชายแดนไทย-เมียนมาร์
ม.ล ดิศปนัดดา ดิศกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายพัฒนา มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ศิษย์เก่าสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Sasin) เปิดเผยถึงโครงการต่างๆ ที่มูลนิธิกำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบันว่า ขณะนี้กำลังดำเนินงาน 10 โครงการใน 10 จังหวัด และอีก 4 โครงการใน 3 ประเทศ โดยแต่ละโครงการมีเป้าหมายแก้ไขปัญหาความยากจนและขาดโอกาสในชีวิต หากสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ก็จะช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่าหรือค้ายาเสพติด ซึ่งเป็นผลมาจากการที่คนไม่มีทางเลือกในการประกอบอาชีพที่สุจริต แต่ละโครงการมีเป้าหมายให้คนในท้องถิ่นมีรายได้เพื่อเลี้ยงตัวเองอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม การดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่ผ่านมา พบว่าก่อนที่มูลนิธิฯ จะเข้าไปพัฒนา คนในพื้นที่มีความเป็นอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ดังนั้น ก่อนเข้าไปพัฒนาต้องมีการสำรวจว่าประชาชนในพื้นที่มีต้นทุนมากน้อยแค่ไหน เช่น เรื่องของธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นน้ำ ดิน และป่า มีปัญหาและความต้องการอย่างไร ซึ่งกระบวนการ “เข้าใจ เข้าถึง” นี้ จะนำไปสู่กระบวนการพัฒนาบนพื้นฐานของความเป็นจริง ที่ผ่านมาโครงการถือว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จมาก ตลอดระยะเวลา 12 ปี โครงการพัฒนาดอยตุงของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงอยู่ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากองค์กรอื่นๆ เนื่องจาก แบรนด์ดอยตุงสามารถสร้างรายได้และเลี้ยงตัวเองได้เป็นอย่างดี มีการสร้างงานในพื้นที่และส่งเสริมให้คนในพื้นที่เป็นเจ้าของกิจการ เช่น เป็นเจ้าของ ต้นกาแฟ หรือสามารถผลิตสินค้าได้ด้วยตัวเอง นอกจากนี้ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม เราได้สภาพป่ากลับคืนมา มีปริมาณฝนตกและความชื้นมากขึ้น เป็นผลดีต่อสภาพแวดล้อมมากขึ้น
ม.ล ดิศปนัดดา เปิดเผยเพิ่มเติมว่า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงและโครงการพัฒนาดอยตุงค่อนข้างเป็นที่รู้จักในเวทีโลก แต่ละปีมีคณะต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศมาดูงานประมาณ 600 กว่าคณะ นอกจากนี้มูลนิธิฯ ได้เข้าไปช่วยเหลือดำเนินโครงการลักษณะเดียวกันในต่างประเทศด้วย เช่น ที่อินโดนีเซียเข้าไปพัฒนาจนประสบความสำเร็จและส่งมอบกลับคืนให้ชุมชนเพื่อให้คนในพื้นที่ดำเนินการต่อและเติบโตด้วยตัวเอง โครงการดังกล่าวยังดำเนินไปตามวิถีของชุมชนและรูปแบบที่วางไว้ สำหรับโครงการที่อัฟกานิสถานดำเนินการมา 6 ปีกว่า ถือเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จมาก อีกไม่นานจะมีการถ่ายโอนให้ชุมชนต่อไป นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนาในประเทศเมียนมาร์ ในพื้นที่ที่ชนกลุ่มน้อย ชาวอาข่า ลาหู่ ไทยใหญ่ และว้า อาศัยอยู่ตามตะเข็บชายแดนภาคเหนือ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีรายได้และไม่มีลู่ทางทำมาหากิน จึงมีการขนยาเสพติดเข้ามาฝั่งไทย การเข้าไปพัฒนาอาชีพและสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับคนเหล่านี้ เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คาดหวังว่าโครงการนี้จะสามารถลดและแก้ปัญหายาเสพติดได้ เมียนมาร์เป็นประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อเขามีปัญหาย่อมกระทบต่อประเทศไทย ความร่วมมือในการพัฒนาจะเอื้อต่อความร่วมมือด้านอื่นๆ ในอนาคตด้วย
“ ในปีนี้มูลนิธิจะดำเนินการ 2 โครงการใหญ่ คือ โครงการปลูกป่า 250,000 ไร่ ที่จังหวัดน่าน อยู่ในพื้นที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอสองแคว และอำเภอท่าวังผา อีกโครงการเราได้รับการทาบทามจาก UNHCR (United Nations High Commissioner For Refugees) ให้ทำการสำรวจชุมชนผู้หนีภัยตามแนวตะเข็บชายแดนไทย-เมียนมาร์ เนื่องจากมูลนิธิฯเป็นหน่วยงานกลางที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ผู้หนีภัยชาวเมียนมาร์ จำนวนประมาณ 130,000 คน 35,000 ครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงกับกะหร่างได้อาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่งตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาร์ มาแล้วมากกว่า 20 ปี ขณะนี้ประเทศเมียนมาร์ยินดีต้อนรับผู้หนีภัยกลับประเทศ ดังนั้น หากในอนาคตผู้หนีภัยมีความต้องการที่จะกลับสู่ภูมิลำเนาหรือไปยังที่อื่น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปทำการสำรวจเพื่อให้มีข้อมูลประชากรพื้นฐานที่ถูกต้อง รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการใช้ชีวิตในอนาคต ทักษะอาชีพที่มีอยู่และทักษะที่ต้องการเพิ่มเติม เพื่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะได้ร่วมกันวางแผนในระยะยาวอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับความประสงค์ของผู้หนีภัย” ม.ล ดิศปนัดดากล่าว และให้ความเห็นถึงเรื่องเป้าหมายในการทำงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงว่า ยังถือว่าเป็นการเรียนหนังสืออยู่เพราะต้องเรียนรู้เรื่องต่างๆ กับชาวบ้าน เป็นการเรียนกับความเป็นจริงไม่มีสอนในตำรา สำหรับตัวเอง ปัจจุบันได้ทำงานที่สร้างความสุข เป็นงานสร้างความเปลี่ยนแปลงและทำเพื่อคนอื่น การมีประสบการณ์ทำงานด้านอื่นมาก่อนและการเรียนที่สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Sasin) ทำให้สามารถมองภาพรวมและวิเคราะห์สถานการณ์ได้ดี รวมทั้งเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการคนและแก้ปัญหาได้ตรงประเด็นมากยิ่งขึ้น สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงานได้ และเมื่อเรียนรู้ได้มากพอ คงจะทำธุรกิจของตัวเอง แต่เป็นธุรกิจที่ทำเพื่อสังคม เป็นการต่อยอดให้กับสิ่งที่ทำอยู่ในปัจจุบัน