กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
นายสไกร พิมพ์บึง รองเลขาธิการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เปิดเผยว่า หลักเกณฑ์การจัดการหนี้ ว่า มี 2 หลักเกณฑ์สำคัญๆ คือ หลักเกณฑ์แรก กรณีเกษตรกรเป็นหนี้สถาบันเกษตร เช่น สหกรณ์การเกษตร มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2551 ให้ กฟก. ชำระหนี้แทน เป็นเงินต้น 100 % พร้อมดอกเบี้ย 7.5 % และต้องเป็นหนี้ NPLไม่น้อยกว่า3 ปี นับจากวันที่ลงนาม โดย กฟก. จะชำระหนี้ให้ทั้งหมด แต่ กรมส่งเสริมสหกรณ์ จะจัดสรรเงินชดเชยจากรัฐบาลให้ 50% พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ส่วนหลักเกณฑ์ที่ 2 หนี้จากสถาบันเจ้าหนี้อื่นๆ เช่น กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ส่วนใหญ่จะอยู่ในเครือข่ายของสมาคมธนาคารไทย มีหลักเกณฑ์ว่า ถ้ามูลหนี้เงินต้นคงค้างเกิน 1ล้านบาทแต่ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท หากสถาบันเจ้าหนี้ประเมินแล้วถ้าหลักทรัพย์ค้ำประกันมีมูลค่าคุ้มหนี้ ธนาคารรับชำระเงินต้น 90% ส่วนหลักทรัพย์ประกันมีมูลค่าไม่คุ้มหนี้ธนาคารรับชำระไม่เกิน 50 % กรณีไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันจะชำระ 30 % และเมื่อวันที่ 26 ก.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการกองทุนฯ ได้มีนโยบายให้คณะกรรมการจัดการหนี้ พิจารณาออกหลักปฏิบัติ คือ ให้ชำระหนี้เงินต้น 2.5 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 5 ล้านบาท โดยใช้หลักการเดียวกันแต่พิจารณาดำเนินการเป็นราย ๆ ไป และเกษตรกรต้องโอนหลักประกันมาเป็นของกองทุนฟื้นฟูฯ หนี้ดังกล่าวเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างกองทุนฟื้นฟูฯ กับสมาคมธนาคารไทย (กรณีหนี้ธนาคารพาณิชย์หรือนิติบุคคลที่คณะกรรมการกำหนด) ต้องเป็นหนี้ก่อน 30 ธันวาคม 2552
นายสไกรกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีองค์กรเกษตร 5 หมื่นกว่าองค์กร เกษตรกรประมาณ 6 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ ได้ขอขึ้นทะเบียน เพื่อแก้ไขจัดการหนี้ จำนวน 5 แสนกว่าราย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL หนี้อยู่ระหว่างดำเนินคดี หนี้บังคับคดี หนี้ NPA และหนี้ที่ถูกฟ้องล้มละลาย มีจำนวน 139,418ราย และกลุ่มที่ 2 เป็นหนี้ปกติ จำนวน 3 แสนกว่ารายที่ได้มาลงทะเบียนไว้ ทำให้ภาพรวมของตัวเลขมูลหนี้ทั้งหมดค่อนข้างสูง ซึ่งที่ผ่านมา กฟก. สามารถจัดการหนี้หรือซื้อทรัพย์คืนให้แก่เกษตรกรได้จำนวน 23,860 ราย โดยเป็นหนี้จากสถาบันเจ้าหนี้ ต่างๆ เช่น สหกรณ์การเกษตร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) กลุ่มธนาคารพาณิชย์ และ นิติบุคคลอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด เช่น บริษัท โรงงานน้ำตาล บริษัทบริหารสินทรัพย์ต่าง ๆ
สำหรับการจัดการหนี้ของ กฟก. นั้นมีหลักเกณฑ์ทั่วไปในการพิจารณา ได้เเก่ 1.การจัดการหนี้ของเกษตรกรที่เกิดจากโครงการส่งเสริมของรัฐอันเป็นความผิดพลาดของเกษตรกร เมื่อเกษตรกรถึงแก่ความตาย หรือความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ เป็นโรคร้ายแรงหรือไม่อาจประกอบอาชีพได้เป็นเวลา 180 วันติดต่อกัน เกิดสาธารณภัยหรือภัยพิบัติอื่น ๆ ทำให้ผลผลิตตกต่ำหรือ ไม่อาจให้ผลผลิตที่คุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจและความผิดพลาดของการจัดการภาครัฐที่รับผิดชอบโครงการ และ 2.การจัดการหนี้ให้เกษตรกร ซึ่งเป็นหนี้ในระบบที่เกิดจากการกู้ยืมสถาบันการเงินต่าง ๆ เช่น ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายซึ่ง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร นิติบุคคลตามที่คณะกรรมการกำหนดและสถาบันเกษตรกร ซึ่งมีรายชื่อตามบัญชีแนบท้าย ประมาณ 80 - 90 สถาบัน ส่วนหนี้นอกระบบ หนี้เงินกู้อื่น ๆ ที่นอกเหนือจากนี้ กฟก. ไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบจัดการหนี้ นายสไกรกล่าวปิดท้าย