ปภ.เตือน 27 จว. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก รับมือภาวะฝนตกหนัก ช่วงวันที่ 13 — 16 ส.ค. 56

ข่าวทั่วไป Thursday August 15, 2013 16:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสาน 27 จังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตกรับมือภาวะฝนตกหนัก ช่วงวันที่ 13 - 16 ส.ค. 56 พร้อมประสานจังหวัด และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมงจัดชุดเคลื่อนที่เร็วและเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันทีที่เกิดสถานการณ์ภัย รวมถึงแจ้งเตือนให้ประชาชนระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกหนัก นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า จากการประสานข้อมูลสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในช่วงวันที่ 13 — 16 สิงหาคม 2556 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทย ทำให้เกิดฝนตกหนักบางแห่งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะพื้นที่ 27 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม สกลนคร นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี หนองบัวลำภู เลย ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง จึงขอเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยของจังหวัดดังกล่าว ระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกหนัก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มได้ โดยหมั่นติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศแจ้งเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หมั่นสังเกตสัญญาณผิดปกติทางธรรมชาติจะได้อพยพหนีภัยได้ทันท่วงที รวมถึงชาวเรือควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือและเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ นายฉัตรชัยฯ กล่าวต่อไปว่า ปภ.ได้ประสาน 27 จังหวัด และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 5 นครราชสีมา เขต 6 ขอนแก่น เขต 7 สกลนคร เขต 13 อุบลราชธานี เขต 14 อุดรธานี เขต 17 จันทบุรี และเขต 18 ภูเก็ต จัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ประจำจุดเสี่ยงให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันทีที่เกิดสถานการณ์ภัย รวมถึงตรวจสอบเส้นทาง ฝาย เขื่อน อ่าง คันกั้นน้ำให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง อีกทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตามแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ จะได้ประกาศแจ้งเตือนภัยและอพยพนักท่องเที่ยวอย่างทันท่วงที สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภาวะฝนตกหนัก สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยเขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่ หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป 0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ