กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--บีโอไอ
บีโอไอเผยผลการให้ส่งเสริมการลงทุน ภายใต้มาตรการฟื้นฟูการลงทุนจากวิกฤตอุทกภัย มีโครงการลงทุนได้รับส่งเสริมทั้งสิ้น 327 โครงการ แบ่งเป็นโครงการที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยและลงทุนฟื้นฟูกิจการ จำนวน 255 โครงการ กว่าร้อยละ 90 มั่นใจลงทุนในพื้นที่เดิม และมี 72 โครงการเป็นการลงทุนใหม่ในนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดปทุมธานี
นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อฟื้นฟูการลงทุนจากวิกฤตอุทกภัย ครั้งที่ 13 ซึ่งถือเป็นประชุมพิจารณาครั้งสุดท้าย ว่า ที่ประชุมได้อนุมัติการขอรับส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการเพื่อฟื้นฟูการลงทุนจากวิกฤตอุทกภัยครั้งนี้รวม 2 โครงการ ได้แก่ 1. บริษัท ไดซิน จำกัด ได้รับส่งเสริมในกิจการผลิตเครื่องจักร อุปกรณ์ และชิ้นส่วน มูลค่าเงินลงทุน 77.90 ล้านบาท ตั้งโครงการที่เขตอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานี 2. บริษัท เฉียน จั่น ซิน อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมในกิจการผลิต ผลิตภัณฑ์พลาสติกหรือเคลือบด้วยพลาสติก มูลค่าเงินลงทุน 49.40 ล้านบาท ตั้งโครงการที่เขตอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานี ซึ่งทั้งสองโครงการอยู่ในที่ตั้งเดิม
ดังนั้น เมื่อรวมกับจำนวนโครงการที่ได้รับการอนุมัติไปก่อนหน้านี้ จะมีโครงการลงทุนได้รับส่งเสริมครบถ้วนตามที่ยื่นขอรับส่งเสริมทั้งสิ้น 327 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 186,534.5 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
1. โครงการที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยได้รับการอนุมัติส่งเสริมภายใต้มาตรการฟื้นฟูการลงทุนจากวิกฤตอุทกภัย จำนวน 255 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 149102.9 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ จำนวน 235 โครงการหรือร้อยละ 92 มั่นใจลงทุนพื้นที่เดิม มีโครงการย้ายไปตั้งในพื้นที่ใหม่ 16 โครงการ หรือร้อยละ 6 ที่เหลือเป็นโครงการเดิมเพิ่มที่ตั้งแห่งใหม่นอกเหนือจากได้ฟื้นฟูการลงทุน สำหรับกิจการที่ย้ายไปตั้งในพื้นที่ใหม่ จำนวน 16 โครงการนั้น ส่วนใหญ่ไปตั้งกิจการอยู่ในภาคตะวันออก เช่น จังหวัดชลบุรี และจังหวัดฉะเชิงเทรา นอกนั้นกระจายไปตั้งกิจการในหลายพื้นที่ เช่น จังหวัดลำพูน จังหวัดขอนแก่น จังหวัดลพบุรี จังหวัดสระบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ
2. มาตรการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนใหม่หรือขยายการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดปทุมธานี มีได้รับส่งเสริมรวม 72 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 37,431.6 ล้านบาท โครงการส่วนใหญ่ หรือจำนวน 36 โครงการ ตั้งอยู่ในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มูลค่าเงินลงทุนรวม 16,435.5 รองลงมาเป็นการลงทุนในเขตอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานี จำนวน 19 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 6,024.2 ล้านบาท
“ จากการสอบถามโครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมเพื่อฟื้นฟูการลงทุนพบว่า กว่าร้อยละ 90 ของ 255 โครงการ สามารถกลับมาดำเนินการผลิตเกือบเต็มกำลังการผลิตแล้ว ส่วนโครงการใหม่ที่จะเข้าไปลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ในปทุมธานี และอยุธยา ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงาน ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าว
ภาคเอกชนชี้ มาตรการฟื้นฟูการลงทุนช่วยให้ตัดสินใจลงทุนในไทยต่อไป
นายคาซึโนริ มาซึอิ (Mr. Katsunori Matsui) รองประธานบริษัท โรม อินทิเกรเต็ด ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Rohm Integrated Systems ( Thailand ) ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า เมื่อครั้งที่เกิดเหตุวิกฤตอุทกภัย ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้รับความช่วยเหลือ และความร่วมมือเป็นอย่างดี จากทั้งพนักงานคนไทย พนักงานบริษัทในเครือ และหน่วยงานต่างๆของภาครัฐ จนทำให้บริษัทของเราสามารถกลับมาดำเนินการผลิตได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสำนักงานส่งเสริมการลงทุนที่คอยช่วยเหลือให้การสนับสนุนนักลงทุนอย่างเต็มที่ในทุกๆเรื่องมาตรการฟื้นฟูหลังวิกฤตอุทกภัยนับเป็นอีกมาตรการ ที่แสดงถึงความเอาใจใส่ และห่วงใยจากภาครัฐ ในการที่จะช่วยบรรเทาความสูญเสียที่มีต่อ นักลงทุน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้บริษัทฯมีความเชื่อมั่น และตัดสินใจที่จะดำเนินกิจการในไทยต่อไปสำหรับแผนการจัดการน้ำของรัฐบาล โดยภาพรวมนับว่าเป็นแผนงานที่ดี บริษัทฯคาดหวังว่ารัฐบาล และหน่วยงานทุกภาคส่วน จะร่วมมือกันนำไปดำเนินการให้เป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง ซึ่งจะยิ่งสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนมากยิ่งขึ้น
ทางด้านนายสมพร ณ ลำพูน กรรมการผู้จัดการ เครือมิซูโนพลาสติก ผู้ผลิตชิ้นส่วนพลาสติก กล่าวว่า เหตุอุทกภัยที่ผ่านมา บริษัทได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลืออย่างดีจากหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กระทรวงอุตสาหกรรม โดยได้รับการสนับสนุนในหลายๆ มาตรการ ทั้งมาตรการให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในการแก้ปัญหาระยะสั้น เช่น การเคลื่อนย้ายเครื่องจักร การนำเข้าเครื่องจักรทดแทน และการนำเข้าวัตถุดิบ ทำให้บริษัทฯ สามารถกลับมาดำเนินการผลิตได้อีกครั้งภายในเวลาอันรวดเร็ว และมาตรการด้านภาษีอากรเพื่อฟื้นฟูการลงทุนจากวิกฤตอุทกภัย ซึ่งบริษัทฯ เชื่อมั่นว่าจะช่วยฟื้นฟูการดำเนินงานของบริษัทฯ ให้กลับมามั่นคงได้อีกครั้งในระยะยาว