ความก้าวหน้าในการดำเนินงานของ ปตท.สผ.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 15, 2013 17:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--ปตท.สผ. นายเทวินทร์ วงศ์วานิช (Mr. Tevin Vongvanich) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยถึงความก้าวหน้าในการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 ว่า ครึ่งแรกปี 2556 ปตท.สผ. กำไรสุทธิรวม 1,041 ล้านดอลลาร์ สรอ. ปตท.สผ.และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิสำหรับงวดหกเดือน สิ้นสุดเดือนมิถุนายน ปี 2556 รวม 1,041 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 30,922 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับกำไรสุทธิงวดหกเดือนสิ้นสุดเดือนมิถุนายน ปี 2555 จำนวน 202 ล้านดอลลาร์ สรอ. หรือร้อยละ 24 โดยเป็นผลมาจากการดำเนินงานตามปกติจำนวน 1,120 ล้านดอลลาร์ สรอ. และขาดทุนจากรายการ Non-Recuring จำนวน 79 ล้านดอลลาร์ สรอ. รายได้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากปริมาณการขายของโครงการบงกช โครงการเอส 1 และโครงการเวียดนาม 16-1 สำหรับปริมาณการขายเฉลี่ยตั้งแต่เดือนมกราคม-เดือนมิถุนายน 2556 มีอัตราเฉลี่ยเป็น 292,102 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน สำหรับผลการดำเนินงานรวมของกลุ่มบริษัทฯ งวด 6 เดือนแรกของปี 2556 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2556 ปตท.สผ. จะจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น ในอัตราหุ้นละ 3 บาท โดยกำหนดวันปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้น ในวันที่ 9 สิงหาคม 2556 และจะจ่ายเงินปันผลในวันที่ 23 สิงหาคม 2556 ผลการดำเนินงานตามแผนธุรกิจไตรมาส 2 สามารถสรุปการดำเนินงานโครงการหลัก ๆ ได้ ดังนี้ ด้านการสำรวจ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2556 นี้ ส่วน โครงการเมียนมาร์พีเอสซี จี และอีพี 2 ได้เริ่มดำเนินงานสำรวจคลื่นไหวสะเทือนแบบ 2 มิติแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 3 ปี 2556 ทางด้าน โครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ เสร็จสิ้นการเจาะหลุมสำรวจระยะแรกแล้วทั้งหมด 9 หลุม ค้นพบน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติถึง 8 หลุม ขณะนี้เข้าสู่การสำรวจระยะที่ 2 ซึ่งมีแผนการในการทำสำรวจคลื่นไหวสะเทือนแบบ 3 มิติ และเจาะหลุมสำรวจและหลุมประเมินผลเพิ่มเติม ด้านการพัฒนา โครงการซอติก้า อยู่ระหว่างการก่อสร้างแท่นผลิตกลางและระบบท่อส่ง ก๊าซฯ ในพื้นที่นอกชายฝั่งและบนบก รวมทั้งการเจาะหลุมผลิต โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มการผลิต เชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาสแรกปี 2557 โครงการแอลจีเรีย 433 เอ และ 416 บี เสร็จสิ้นการเจาะหลุมผลิตที่ 5 จาก 12 หลุมตามแผนงานระยะแรก ขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการในส่วนของการก่อสร้างกระบวนการผลิตและระบบท่อขนส่ง รวมถึงงานก่อสร้างที่พักอาศัยและสาธารณูปโภค โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มการผลิตได้ภายในครึ่งหลังของปี 2557 โครงการแคนาดา ออยล์ แซนด์ เคเคดี เสร็จสิ้นการออกแบบในส่วนของการขยายกำลังการผลิตในแหล่ง Leismer เพื่อเพิ่มอัตราการผลิตให้เป็น 40,000 บาร์เรลต่อวัน และอยู่ระหว่างขั้นตอนการเตรียมสัญญาการจ้างสำหรับ Front End Engineering Design (FEED) ซึ่งคาดว่าจะอนุมัติภายในไตรมาสที่ 3 ปี 2556 สำหรับแหล่ง Corner คาดว่าจะทำ FEED สำหรับกำลังการผลิตที่ 40,000 บาร์เรลต่อวัน คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2556 ด้านการผลิต ปัจจุบันแหล่งมอนทาราใน โครงการพีทีทีอีพี ออสตราเลเซีย ได้เริ่มผลิตน้ำมันดิบและส่งเข้ากระบวนการผลิตของเรือ FPSO Montara Venture แล้วตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยอัตราการผลิตเริ่มแรกจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 21,000 บาร์เรลต่อวัน และจะเพิ่มเป็นประมาณ 30,000 บาร์เรลต่อวันเมื่อเสร็จสิ้นการเจาะหลุมผลิตเพิ่มเติมอีก 1 หลุมในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 นอกจากนี้ คาดว่าจะเริ่มจำหน่ายน้ำมันดิบครั้งแรกได้ในเดือนสิงหาคม โครงการเอส 1 สามารถรักษาอัตราการผลิตน้ำมันดิบได้อย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่ 2 มีอัตราการผลิตเฉลี่ยที่ 33,900 บาร์เรลต่อวัน โครงการแคนาดา ออยล์ แซนด์ เคเคดี แหล่ง Leismer มีอัตราการผลิต ประมาณ 14,000 บาร์เรลต่อวัน โดยเสร็จสิ้นการขุดเจาะหลุมคู่ (หลุมอัดไอน้ำและหลุมผลิต) เพื่อการผลิตของ Well pad ที่ 5 เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยการก่อสร้างยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะเข้าสู่กระบวนการผลิตได้ในไตรมาสแรกของปี 2557 สำหรับ โครงการเวียดนาม 16-1 มีอัตราการผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ย 46,293 บาร์เรลต่อวัน และก๊าซธรรมชาติ 28.3 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยในไตรมาสนี้โครงการประสบความสำเร็จในการทดสอบความสามารถในการผลิตของ FPSO (Floating Production Storage and Offloading Unit) ที่ระดับการผลิตน้ำมันดิบ 60,000 บาร์เรลต่อวัน นายเทวินทร์ กล่าวว่า “จากการดำเนินงานตามแผนธุรกิจข้างต้นนั้นทำให้ ปตท.สผ. สามารถเพิ่มปริมาณการขายเฉลี่ยของปี 2556 ขึ้นเป็น 300,000 — 310,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน หรือประมาณ 9% จากปีก่อน” ผลเจาะหลุมประเมินผลล่าสุดของแปลง M3 ในอ่าวเมาะตะมะ ปตท.สผ.ได้เริ่มดำเนินการเจาะหลุมประเมินผลทั้ง 4 หลุมตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนสิงหาคม 2556 ได้แก่ หลุม Aung Sinkha-3, Aung Sinkha-4, Aung Sinkha-5 และ Aung Sinkha-6 โดยพบก๊าซธรรมชาติจากการทดสอบอัตราการไหล ดังนี้ หลุม Aung Sinkha-3 มีอัตราการไหลของ ก๊าซธรรมชาติรวม 34.5 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และคอนเดนเสท 195 บาร์เรลต่อวัน หลุม Aung Sinkha-5 มีอัตราการไหลของก๊าซธรรมชาติรวม 9 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และหลุม Aung Sinkha-6 มีอัตราการไหลของก๊าซธรรมชาติรวม 14 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และคอนเดนเสท 1,820 บาร์เรลต่อวัน ส่วนหลุม Aung Sinkha-4 นั้น ผลจากการสำรวจพบว่ามีก๊าซธรรมชาติอยู่ในโครงสร้างชั้นหิน แต่ไม่สามารถทำการวัดอัตราการไหลของก๊าซธรรมชาติได้ เนื่องจากเป็นการเจาะหลุมแรก ไม่สามารถจัดเตรียมอุปกรณ์การละลายชั้นหินปูน(Acidizing) ที่จะทำให้ก๊าซไหลขึ้นบนพื้นผิวได้ ทั้งนี้ ปตท.สผ.อ. มีแผนที่จะเจาะหลุมประเมินผลเพิ่มเติมในปี 2557 เพื่อวางแผนพัฒนาและผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่ง Aung Sinkha ต่อไป แผนกลยุทธ์การดำเนินงาน เพื่อสร้างความเติบโตทางธุรกิจของ ปตท.สผ. แผนการดำเนินงาน 5 ปี ของ ปตท.สผ. เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ซึ่งจะเพิ่มการผลิตให้ได้ถึง 600,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันภายในปี 2563 ปตท.สผ. มีแผนในการดำเนินงาน 4 ด้าน ดังนี้ 1. รักษาระดับการผลิตในโครงการหลัก ๆ ภายในประเทศ เช่น โครงการเอส 1 โครงการบงกช และโครงการอาทิตย์ 2. เร่งรัดการพัฒนาและการผลิตโครงการในต่างประเทศ เช่น โครงการซอติก้า แหล่งมอนทารา แหล่งแคช/เมเปิ้ล โครงการแคนาดา ออยล์ แซนด์ เคเคดี และโครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน 3. เพิ่มปริมาณสำรองให้ได้ Reserve per production (R/P) มากกว่า 10 ปีขึ้นไป โดยการสำรวจเพิ่มเติม ควบคู่ไปกับการหาผู้ร่วมทุนที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการดำเนินงานในแหล่งนั้น ๆ 4. ลงทุนในโครงการใหม่ ๆ โดยจะลงทุนในประเทศที่เป็น Growth Platform ของ ปตท.สผ. เช่น ประเทศไทย สหภาพเมียนมาร์ ทวีปอเมริกาเหนือ และทวีปแอฟริกาตะวันออก ซึ่งจะมุ่งเน้นการลงทุนในโครงการที่ใกล้จะเริ่มการผลิต หรือโครงการที่ทำการผลิตอยู่แล้ว นายเทวินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “เป้าหมายการผลิต 600,000 บาร์เรลต่อวัน ภายในปี 2563 ถือว่าเป็นเป้าหมายที่น่าจะเป็นไปได้มากขึ้น” สำหรับงบประมาณการลงทุน 5 ปี ตั้งแต่ปี 2556 — 2560 นั้น ปตท.สผ. ยังคงงบประมาณการลงทุนไว้ที่ 24,671 ล้านดอลล่าร์ สรอ. ซึ่งประกอบด้วย ประมาณการรายจ่ายลงทุน (Capital Expenditure) และรายจ่ายดำเนินงาน (Operating Expenditure)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ