สถานการณ์น้ำมันเชื้อเพลิงในเดือน มกราคม - กรกฏาคม 2541

ข่าวทั่วไป Thursday September 17, 1998 14:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--17 ก.ย.--กรมทะเบียนการค้า
นายนรวัฒน์ สุวรรณ อธิบดีกรมทะเบียนการค้าเปิดเผยว่า ในเดือนมกราคม - กรกฏาคม ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรวมทั้งสิ้น วันละ 652,544 บาร์เรล ลดลงจากช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12 เป็นการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว 265,038 บาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 18 น้ำมันเตา 145,974 บาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 11 น้ำมันเบนซิน 126,052 บาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 3 น้ำมันอากาศยาน 58,281 บาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 5 น้ำมันดีเซลหมุนช้า 1,962 บาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 24 น้ำมันก๊าด 1,002 บาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 37 และก๊าซแอลพีจี 4,656 เมตริกตัน/วัน ลดลงร้อยละ 4
ทางด้านการผลิตได้จากโรงกลั่นและโรงแยกก๊าซฯ ภายในประเทศวันละ 717,184 บาร์เรล ลดลงจากช่วยเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4 เป็นการลดลงของน้ำมันทุกชนิด ได้แก่ น้ำมันเบนซินผลิตได้วันละ 154,204 บาร์เรล ลดลงร้อยละ 3 น้ำมันเตา วันละ 134,306 บาร์เรล ลดลงร้อยละ 14 น้ำมันอากาศยานวันละ 59,603 บาร์เรล ลดลงร้อยละ 7 น้ำมันก๊าดวันละ 1,408 บาร์เรล ลดลงร้อยละ 40 และก๊าซแอลพีจี วันละ 5,966 เมตริกตัน ลดลงร้อยละ 4 ยกเว้นน้ำมันดีเซลหมุนเร็วผลิตได้วันละ 296,281 บาร์เรล เพิ่มขึ้นร้อยละ 1
นอกจากนี้ ยังมีการนำเข้าจากต่างประเทศอีกวันละ 28,428 บาร์เรล ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 59 มูลค่ารวม 3,583 บาร์เรล ลดลงร้อยละ 62 โดยนำเข้ามาจากประเทศสิงคโปร์เป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้เป็นการนำเข้าน้ำมันเตา ซึ่งผลิตได้ยังไม่เพียงพอกับความต้องการใช้วันละ 16,917 บาร์เรล ส่วนน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว วันละ 10,764 บาร์เรล และน้ำมันเบนซินวันละ 618 บาร์เรล เป็นการนำเข้าทางคลังแถบภาคใต้ สำหรับน้ำมันดิบมีการนำเข้าวันละ 705,951 บาร์เรล ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3 ในขณะที่มูลค่ารวม 88,516 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 โดยนำเข้าจากตะวันออกกลางร้อยละ 82 ตะวันออกไกลร้อยละ 16 และแหล่งอื่น ๆ อีกร้อยละ 2 ประเทศที่มีการนำเข้ามากที่สุด ได้แก่ โอมาน ร้อยละ 33 รองลงมาได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตท์ร้อยละ 20 เยเมนร้อยละ 12 มาเลเซียและซาอุดิอาระเบีย ร้อยละ 11 เท่ากัน
จากความต้องการใช้ของประเทศที่มีปริมาณเพียงร้อยละ 91 ของปริมาณการผลิตรวมทั้งหมด ทำให้มีน้ำมันส่วนเกินส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศวันละ 103,782 บาร์เรล เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 29 น้ำมันที่ส่งออกได้แก่ น้ำมันดีเซลหมุนเร็ววันละ 40,517 บาร์เรล น้ำมันเบนซินวันละ 35,058 บาร์เรล น้ำมันเตา 3,720 บาร์เรล และก๊าซปิโตรเลียมเหลววันละ 1,365 เมตริกตัน ซึ่งเป็นการส่งออกไปยังประเทศในแถบอินโดจีนและสิงคโปร์เกือบทั้งหมด--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ