กรุงเทพฯ--16 ส.ค.--บีโอไอ
บีโอไอเดินหน้าส่งเสริมนักธุรกิจไทยไปลงทุนในต่างประเทศ จัดติวเข้มผู้ประกอบการไทยทั่วประเทศ ประเดิมจัดอบรม 3 วัน ให้นักธุรกิจไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในหัวข้อ “เตรียมความพร้อมสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน”
นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการไทยมีความพร้อมรับมือกับการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน ภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 บีโอไอจึงกำหนดแผนงานในการจัดสัมมนาให้ความรู้และการจัดอบรมทั่วประเทศ โดยจะประเดิมจัดอบรมในหัวข้อ “การเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่ เออีซี รุกหรือรับ” ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 — 18 สิงหาคม 2556 ณ โรงแรมดุสิต ปริ๊นเซส โคราช จ.นครราชสีมา
ตลอดระยะเวลา 3 วันของการอบรม นักธุรกิจที่เข้าร่วมงานจะได้รับความรู้ด้านกฎหมาย กฎระเบียบการเข้าไปลงทุนทำธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนโอกาสและลู่ทางการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และนักวิชาการชั้นนำ รวมทั้งจะมีธนาคารพาณิชย์มาให้ความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงินในประเทศเพื่อนบ้านด้วย
นักธุรกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่สนใจเข้าร่วมการอบรม สามารถตอบรับเข้าร่วมงานได้ที่ กองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ บีโอไอ โทร 0 2553 8139 หรือ ตอบรับเข้าร่วมอบรมผ่านทางเว็บไซต์บีโอไอ www.boi.go.th
ทั้งนี้ บีโอไอได้ศึกษาข้อมูลเชิงลึกรายอุตสาหกรรมและรายสาขา ที่จะเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายในการส่งเสริมให้นักธุรกิจไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เกษตร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ชิ้นส่วน ยานยนต์ ท่องเที่ยวและบริการ กิจการก่อสร้าง กิจการที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม
นอกจากนี้ บีโอไอก็จะมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ โดยการนำคณะนักลงทุนไทยไปสำรวจลู่ทางและศักยภาพในประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อเข้าพบและรับฟังข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ เข้าร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) และเข้าเยี่ยมชมโรงงาน ตลอดจนเยี่ยมชมนิคมอุตสาหกรรม และระบบสาธารณูปโภค อาทิ ท่าเรือ
สำหรับแผนงานส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศในปี 2556 — 2557 นั้น บีโอไอจะจัดกิจกรรมพาคณะนักลงทุนไทยไปสำรวจลู่ทางการลงทุนในต่างประเทศประมาณ 20 ครั้งใน 3 กลุ่มประเทศ ได้แก่ 1.กลุ่มประเทศเป้าหมายหลัก คือ อินโดนีเซีย เมียนมาร์ เวียดนาม กัมพูชา กลุ่มที่สอง จีน อินเดีย และชาติอาเซียนอื่นๆ และกลุ่มที่สาม กลุ่มประเทศตลาดใหม่ ได้แก่ เอเชียใต้ กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และกลุ่มประเทศในแอฟริกา โดยนักธุรกิจไทยที่จะไปกับคณะมีทั้งกลุ่มที่อยากไปแสวงหาโอกาสการลงทุนใหม่ๆ และกลุ่มที่จำเป็นจะต้องออกไปลงทุนในต่างประเทศ ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 2.อุตสาหกรรมเกษตรและเกษตรแปรรูป 3.อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 4. อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมหนัก และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับสาธารณูปโภคพื้นฐาน