ศศินทร์จัดหลักสูตรอบรมผู้บริหารระดับสูงอาเซียน เน้นรู้เขา-รู้เราเพื่อรวมทุกประเทศก้าวสู่เวทีระดับโลก

ข่าวทั่วไป Friday August 16, 2013 14:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ส.ค.--ศศินทร์ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Sasin) จัดอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงอาเซียน เพื่อให้ทุกฝ่ายเรียนรู้แรงขับเคลื่อนและแนวโน้มทิศทางของโลก เชิญเอกอัครราชฑูตทุกประเทศบรรยายและเดินทางไปเรียนรู้สังคม เศรษฐกิจของแต่ละประเทศ เน้นรู้เขา-รู้เรา เพื่อก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดร. สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในการบรรยายหัวข้อ “ASEAN: a Regional Perspective” ว่า ประเทศไทยมีศักยภาพด้านต่าง ๆ เป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาค เมื่อรวมกลุ่มเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ไทยควรเป็นผู้นำสำคัญในการขับเคลื่อนเชื่อมโยงเศรษฐกิจ แต่ความไม่ต่อเนื่องของรัฐบาลอาจทำให้การพัฒนาเรื่องต่าง ๆ ล่าช้า ดังนั้น ควรมองการรวมตัวของอาเซียนใน 2 มิติ กล่าวคือมิติภายในประเทศ จะต้องสร้างความตระหนักรับรู้ให้กับคนในประเทศ เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญเรื่องดังกล่าว รวมทั้งการปรับตัว การพัฒนาด้านต่าง ๆ ซึ่งต้องรู้ว่าประเทศเรามีข้อดีและข้อด้อยอย่างไร สำหรับมิติภายนอกนั้น ทุกประเทศต้องสร้างความเข้มแข็งและร่วมมือกัน ปัจจุบัน GDP ของอาเซียนเป็นอันดับ 9 ของโลก และเศรษฐกิจอาเซียนโต 4.7 % นอกจากนี้ประเทศจีนจะเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญในอนาคต ขณะนี้เศรษฐกิจจีนมีการเติบโตที่ดีและมีผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจของเอเชีย ดังนั้น การรวมตัวของประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนจะต้องเกาะกันให้เหนียวแน่นเพื่อจะได้มีอำนาจในการต่อรองเรื่องต่างๆ กับนานาประเทศในภูมิภาคอื่น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อการดำเนินนโยบายของอาเซียนในขณะนี้คือ ความพยายามเข้ามามีบทบาทของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน ในขณะที่ทั้งไทยและประเทศอื่น ๆ ยังขาดแคลนเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง เพราะที่ใช้กันอยู่ส่วนใหญ่ซื้อมาจากชาติอื่น ๆ นอกจากนี้ยังขาดการวิจัยและค้นคว้า ที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน ดังนั้น จึงต้องร่วมมือในการพัฒนา เช่น การเพิ่มทักษะด้านแรงงาน รวมถึงการใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร ในขณะที่ประเทศสิงคโปร์และฟิลิปปินส์มีความเชี่ยวชาญมากกว่า ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ผู้อำนวยการ Sasin Institute for Global Affairs กล่าวว่า เพื่อเป็นการรับมือความเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคนี้ จึงให้ความสำคัญหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงอาเซียน เป็นหลักสูตรที่เปลี่ยนแนวคิด มุมมอง วิสัยทัศน์ในระดับอาเซียนและระดับโลก เพื่อทำความเข้าใจประวัติศาสตร์อาเซียน รู้ที่มาที่ไป และอารยธรรมอาเซียน หลักสูตรดังกล่าวต้องการให้ผู้เรียน รู้ว่าประเทศไทยมีบทบาทอย่างไรในอาเซียนและในระดับโลก เนื่องจากให้ข้อมูลเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ โดยได้รับเกียรติจากเอกอัครราชทูตในอาเซียนบรรยายเกี่ยวกับประเทศของตน ผู้เข้าเรียนหลักสูตรจะได้เดินทางไปเรียนรู้วัฒนธรรม วิถีการดำเนินชีวิต รวมทั้งด้านเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา เวียดนาม พม่า และมาเลเซีย เพื่อให้ผู้ที่อบรมหลักสูตรได้รู้เขา-รู้เรา และสร้างเครือข่ายในการพัฒนา เพื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนไปพร้อม ๆ กัน ศาสตราจารย์เจน ดิแพค ซี อดีตคณบดีจากอินเสียด (INSEAD Business School )และอดีตคณบดีวิทยาลัยเคลลอกก์ (Kellogg School of Management) กล่าวบรรยายในหัวข้อ “ASEAN in a Global Perspective” ว่า ในอนาคตไม่ใช่เฉพาะอาเซียนจะมีบทบาทมากขึ้นในตลาดระดับโลก แต่ประเทศจีนจะมีผลกระทบกับชาติต่างๆ ทั้งในอาเซียนและในระดับโลกเช่นเดียวกัน และหากมีการรวมตัวของเอเชีย แอฟฟริกา และออสเตรเลียเข้าด้วยกัน จะทำให้ตลาดขยายใหญ่ขึ้น ทั้งนี้ปัจจัยต่าง ๆ ที่จะสนับสนุนให้เศรษฐกิจในอาเซียนเติบโต เช่น ประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์มีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจสูงมาก นอกจากนี้ความเจริญก้าวหน้าทางวิวัฒนาการทั้งการสื่อสาร และเครือข่ายสังคมออนไลน์จะมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาด้านต่าง ๆ ในอาเซียน แต่สิ่งที่จะตามมา คือการใช้พลังงานอย่างมหาศาลในอนาคต ดังนั้น จึงต้องหาวิธีการนำพลังงานที่ใช้แล้ว กลับมาใช้ใหม่ อย่างไรก็ตาม จุดเด่นของประเทศไทยนั้นเป็นศูนย์กลางอาเซียน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการขนส่ง ทั้งยังมีชื่อเสียงเรื่องอาหาร และด้านการรักษาสุขภาพ โรงพยาบาลได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในคุณภาพ การให้บริการ ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบของประเทศไทย แต่การเป็นผู้นำของอาเซียนต้องประกอบด้วยปัจจัยอื่น ๆด้วย เช่น ประชาชนมีความสามารถทางการค้า การสร้างมูลค่า สร้างสรรค์สินค้า รวมทั้งผลิตภัณฑ์ต่าง ๆให้มีความแตกต่าง โดดเด่นและมีคุณภาพเพื่อรองรับความต้องการของตลาดทั้งในปัจจุบันและอนาคต ควรให้ความสำคัญการวิจัยความต้องการของตลาดแต่ละภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ