กรุงเทพ--26 มี.ค.--ปตท.
เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2542 เวลา 11.30 น. ที่อาคารสำนักงานใหญ่ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) นายนรวัฒน์ สุวรรณ อธิบดีกรมทะเบียนการค้า และนายเมตตา บันเทิงสุข รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายและพลังงานแห่งชาติ เป็นประธานร่วมในพิธีลงนามสัญญาจ้าง "โครงการศึกษาผลกระทบของการใช้สารเติมแต่ง ประเภทล้างทำความสะอาด หัวฉีดน้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำ" ในวงเงิน 22.5 ล้านบาท ระหว่าง กรมทะเบียนการค้า ผู้ว่าจ้างและสถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท.ผู้รับจ้างทำการศึกษาวิจัยในโครงการดังกล่าว
อธิบดีกรมทะเบียนการค้าเปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับลดปริมาณกำมะถันในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วลงจากเดิมประมาณ 0.25% โดยน้ำหนักเหลือไม่สูงกว่า 0.05% โดยน้ำหนักนั้น ซึ่งจะต้องเติมสารเติมแต่งช่วยหล่อลื่น (Lubricity additive) เพิ่มจากเดิมที่สารเติมแต่งชะล้างหัวฉีด (Detergent additive) อยู่แล้วนั้นตามหลักวิชาการเมื่อคุณภาพน้ำมันดีขึ้นจะช่วยลดความสกปรกของหัวฉีดลง จึงอาจยกเลิกการเติมแต่งประเภทชะล้างทำความสะอาดหัวฉีด (Detergent Additive) ได้ ซึ่งในการนี้ จำเป็นต้องมีการศึกษาผลกระทบของการเลิกใช้ที่อาจเกิดต่อเครื่องยนต์ ดังนั้น กะทรวงฯ จึงได้ว่าจ้างให้สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. ดำเนินการศึกษาฯ โดยได้รับเงินอุดหนุนจาก กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ซึ่งหากผลการศึกษาวิจัย สรุปได้ว่าสามารถยกเลิก Detergent Additive ในน้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำได้ โดยไม่มีผลกระทบ จะช่วยให้ประเทศประหยัดเงินตราต่างประเทศได้ถึงปีละกว่า 1,000 ล้านบาท เนื่องจากสารเติมแต่งชนิดนี้ต้องนำเข้า
นายแสวง บุญญาสุวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยฯ ปตท. ชี้แจงขอบเขตของงานวิจัย ว่า สถาบันฯ จะทำการศึกษา คุณสมบัติน้ำมันดีเซลหมุนเร็วปริมาณกำมะถัน 0.25% และ 0.05% โดยน้ำหนักจากโรงกลั่นในประเทศ 6 แห่ง ศึกษาคุณสมบัติของสารเติมแต่งชะล้างหัวฉีด และสารเติมแต่งช่วยหล่อลื่นทดสอบภาคสนามรถยนต์ดีเซลขนาดเล็ก และใหญ่ วิเคราะห์สิ่งสกปรกที่หัวฉีดน้ำมันเชื้อเพลิง และวิเคราะห์ปริมาณสารมลพิษจากไอเสียรถยนต์ ซึ่งงานทั้งหมดนี้จะใช้เวลา 12 เดือน นับจากวันลงในสัญญา
ทั้งนี้ ด้วยศักยภาพของสถาบันวิจัยฯ ปตท. ทั้งในด้านนักวิจัยความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีคุณภาพ และเครื่องมือ อุปกรณ์การวิจัยในห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยและใช้เทคโนโลยีสูง สถาบันวิจัยฯ ปตท. มีขีดความสามารถและความพร้อมที่จะดำเนินการศึกษาวิจัย เพื่อสนองนโยบายรัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน องค์กรและประเทศชาติ โดยรวมได้อย่างสมบูรณ์--จบ--