กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--คอร์ แอนด์ พีค
สทน.ได้จัดนิทรรศการเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องของการเกษตร ซึ่งมีการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาใช้ในเรื่องของการเกษตรมากมาย เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกษตรกรพบ เช่น ปัญหาโรคพืช ปัญหาแมลงวันผลไม้รบกวนผลผลิตจำพวกผลไม้ พืชให้ผลผลิตน้อย พืชไม่เจริญเติบโต ดูดซึมไม่ดี และพืชคาดการดูแล หากเกษตรกรหรือผู้ดูแลไม่สะดวกในการดูแล เป็นต้น สทน.จึงค้นคว้างานวิจัยทางการเกษตร จนสามารถนำเอาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ มาช่วยในการสร้างงานวิจัย ให้สามารถแก้ไขปัญหาที่ประสบเหล่านั้นได้ และได้ถ่ายทอดออกมาให้เข้าใจง่ายในรูปแบบของนิทรรศการเรียนรู้และจับต้องได้ “นิวเคลียร์กับการเกษตร” ที่จะเกิดขึ้น ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในปีนี้ ได้แก่
1. ไคโตซาน เราอาจจะทราบโดยทั่วไปว่า ไคโตซาน เป็นสารช่วยกระตุ้น การดูดซึมของพืชสกัดได้จากเปลือกกุ้ง เปลือกปูและแกนของหมึกทะเล ซึ่งมีจำหน่ายมากมายในท้องตลาด แต่ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ที่พบทั่วไปนั้น มีโมเลกุลที่มีขนาดใหญ่มาก เป็นปัญหากับพืชตรงที่ พืชไม่สามารถดูดซึมนำไคโตซานนี้ไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือยากกว่าที่พืชควรจะได้รับ สทน. จึงมีการนำเอาไคโตซานนี้มาทำการฉายรังสี เพื่อให้รังสีนั้นทำขนาดของโมเลกุลในไคโตซานปกตินี้ย่อยเล็กลง เมื่อพืชดูดซึมนำไปใช้ให้เป็นพลังกระตุ้นการดูดซึม ก็จะทำให้พืชนั้นใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด จึงทำให้ไคโตซานของ สทน. ที่ผ่านการฉายรังสีนี้ พืชมีการตอบสนองได้ดีกว่า และพืชเจริญเติบโตได้ดีว่า ไคโตซานท้องตลาดมาก(มีของจริงให้เห็นและสัมผัส)
2. สารละลายไหม เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา สทน.ได้นำเอา เศษไหมแทบจะไร้มูลค่ามาสกัดเอาสารละลายโปรตีนไหมโดยผ่านการฉายรังสีเพื่อทำให้สะอาดปลอดเชื้อจุลินทรีย์มาผสมกับ เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ทางผิวพรรณมากมาย เช่น สบู่ไหม แชมพูสระผม ครีมนวด ครีมทาผิว ซึ่งช่วยให้ผิวพรรณของเรานั้นได้รับสารอาหารที่มีความจำเป็นต่อผิวได้อย่างเต็มที่ ผิวพรรณจึงมีความเนียนนุ่ม ชุ่มชื่น เป็นที่นิยมของคุณแม่บ้าน พ่อบ้านทั้งหลาย ในปีนี้ เรานำสารละลายไหมนี้ หมักบ่มจนได้ที่ เป็นสูตรเฉพาะของ สทน. มาแก้ไขปัญหาให้เกษตรกร เพราะเนื่องจาก โปรตีนในไหมมีมาก และหลายชนิดมีความจำเป็นกับพืช เป็นที่ต้องการของพืชสูง เปรียบเสมือนเป็นฮอร์โมนบำรุงชั้นดี ที่ทำให้พืชเจริญงอกงามแข็งแรง ให้ผลผลิตดี ดก ใหญ่ สดอยู่ได้นานขึ้น เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรมากขึ้น ไม่เป็นอันตรายต่อพืชและผู้ใช้ เพราะไม่ใช่สารเคมี โดยใช้กับพืชต่างๆ หลากหลายชนิดเช่น มังคุด เงาะ เห็ด ข้าว มันสำปะหลัง กล้วยไม้ หรือแม้แต่สามารถนำมาผสมในอาหารสัตว์ได้อีกด้วย เช่น อาหารกุ้งแม่น้ำ อาหารจิ้งหรีด เป็นต้น(ผสมอาหารกุ้ง ทำให้กุ้งตัวโต น้ำหนักดี ราคาดี, ผสมในน้ำดื่มจิ้งหรีด ทำให้จิ้งหรีดตัวอวบโต มันอร่อย ขายดี)(มีของจริงให้เห็นและสัมผัส)
3. พอลิเมอร์อุ้มน้ำ ในยุคของความเร่งรีบ มีเวลาน้อยและจำกัด ต้องมีสิ่งที่อำนวยความสะดวกให้ชีวิตของเรามากขึ้น เราจึงอาจจะไม่มีเวลาที่จะดูแลพืชที่เราปลูกเอาไว้ เมื่อเวลาผ่านไปพืชอันแสนรักอาจจะตายไปอย่างน่าเสียดาย สำหรับท่านที่ชอบปลูกต้นไม้เป็นงานอดิเรกนั้น คงมีความสุขกับการเห็นพืชได้เจริญเติบโตงอกงามดี ออกดอกสวยๆ ออกผลงามๆให้ได้ชื่นชม แต่ก็อาจจะไม่ดีแน่หากต้องไปอยู่ที่อื่นไกลๆ นานๆ แล้วไม่มีเวลาพอที่จะดูแลพืชเหล่านี้ สทน. จึงคิดค้นพอลิเมอร์อุ้มน้ำนี้ขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ไม่มีเวลาดูแลต้นไม้ กล่าวคือ พอลิเมอร์นี้ผลิตจากมันสำปะหลังที่ได้จากธรรมชาติ แล้วนำมาฉายรังสีเพื่อให้เกิดปฏิกิริยาบนสายโซ่ของแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งจะทำให้ตัวมันเองอุ้มน้ำได้ดี ถึง 500 เท่า เปรียบเสมือนเป็นแหล่งเก็บกักน้ำเอาไว้ เมื่อผสมคลุกเคล้าเข้ากับดินแล้ว พอลิเมอร์อุ้มน้ำนี้ จะทำหน้าที่ให้ดินมีความชื้นได้นานแม้ไม่รดน้ำให้กับดินหรือพืชเป็นระยะเวลานับเดือน แล้วพืชก็สามารถอยู่เพราะมีความชิ้นตากพอลิเมอร์ที่ผสมกับดินนี้และด้วยคุณสมบัติของพอลิเมอร์อุ้มน้ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้นยังสลายไปกับดินได้ เมื่อมันละลายเสื่อมสภาพลง ไม่เป็นอันตรายต่อพืชและดินอีกด้วย(มีของจริงให้เห็น สัมผัสและสามารถร่วมกิจกรรมเพื่อนำต้นไม้พอลิเมอร์กลับบ้านได้)
4. แมลงวันผลไม้ เกษตรกรผู้ค้าผลไม้ไทยมีปัญหาเกี่ยวกับผลผลิตน้อย มีผลกระทบทางการส่งออกผลไม้ไทยไปต่างประเทศ ส่วนหนึ่งมากจากการที่ เกษตรกรปลูกผลไม้นั้นถูกรบกวนจากแมลงวันผลไม้ จนทำให้ผลผลิตตกต่ำลง สทน. จึงมีงานวิจัย การทำหมันแมลงวันผลไม้โดยการฉายรังสีขึ้น เพื่อกำจัดต้นตอของเจ้าตัวร้ายที่ทำให้ผลผลิตของผลไม้ไทยลดลง วิธีง่ายๆ โดยการดักจับแมลงวันผลไม้ตามธรรมชาติมาคัดสายพันธ์ที่มีมาก มีการแพร่ระบาดสูง แล้วทำการเพาะเลี้ยงเพื่อสังเกตพฤติกรรม เมื่อได้แล้ว เราจึงเลี้ยงเพื่อนำเอาดักแด้ของมันมาฉายรังสีแกมมาเพียงแค่ชั่วระยะเวลาหนึ่งทำให้มันเป็นหมัน แล้วทำการรอฟักออกจากดักแด้ ซึ่งช่วงระหว่างรอนี้ เราจะทำการย้ายดักแด้เหล่านี้ ไปไว้ในพื้นที่สวนผลไม้ โดยคำนวณสัดส่วนของพื้นที่ ต่อแมลงวันผลไม้เป็นล้านตัว แล้วเมื่อแมลงวันผลไม้เหล่านี้ฟักเป็นตัว มันจะบินไปจับคู่กับแมลงวันผลไม้ในธรรมชาติ แต่ไม่สามารถที่จะฟักไข่ได้ ผลไม้ของเกษตรกรก็ไม่เน่าเสีย สามารถที่จะเพิ่มผลิตผลได้มากตามที่ตลาดต้องการ และวิธีนี้ยังทำให้เกษตรกรไม่ใช้ยาฆ่าแมลงอีกด้วย โดยได้ทำสำเร็จไปแล้วในหลายพื้นที่ของประเทศ เช่น นครนายก จันทบุรี แพร่ เป็นต้น(มีของจริงให้เห็นและสัมผัส)
จากงานวิจัยต่างๆ เหล่านี้ สทน. ได้ทำการช่วยเหลือเกษตรกรไทยให้มีความกินดีอยู่ดีมีสุข รายได้เพิ่มพูน ผลผลิตมีคุณภาพยิ่งขึ้น เกษตรกรไทยก็ยิ้มได้ สนใจขอเชิญที่งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ปี 2556 ณ ศูนย์นิทรรศการ ไบเทค บางนา วันนี้ถึง 21 สิงหาคม 2556 เวลา 09.00 น. — 20.00 น.