กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--ไอเดียเวิร์คส์ คอมมิวนิเคชั่นส์
บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น รายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 2 ปี 2556 รายได้จากการให้บริการโดยรวมยังคงเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า เป็นผลจากการเติบโตของทั้งสามธุรกิจหลักที่สามารถขยายฐานลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง
ในไตรมาส 2 ปี 2556 กลุ่มทรูมีรายได้จากการให้บริการโดยรวม จำนวน 16.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า อันเป็นผลจากรายได้ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องของทรูมูฟ เอช ซึ่งมีการใช้บริการนอนวอยซ์เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงความสำเร็จในการขยายบริการบรอดแบนด์ สู่ต่างจังหวัด ที่ทำให้รายได้จากการให้บริการของทรูออนไลน์เติบโตแข็งแกร่งจากปีก่อนหน้า อีกทั้งรายได้ค่าสมาชิกทรูวิชั่นส์ที่เพิ่มขึ้นและผลตอบรับที่ดีของรายการเดอะวอยซ์คิดส์ ส่งผลให้รายได้ของทรูวิชั่นส์เติบโตขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ กลุ่มทรูมีกำไรจากการดำเนินงาน ก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย หรือ EBITDA เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า เป็น 4.3 พันล้านบาท ส่วนใหญ่จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นของทั้งสามธุรกิจหลัก ซึ่งช่วยชดเชยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นจากการขยายและดูแลโครงข่ายและการทำตลาดเพื่อขยายฐานลูกค้าและกระตุ้นให้ลูกค้าใช้บริการเพิ่มมากขึ้น โดยในไตรมาส 2 ปี 2556 กลุ่มทรูรายงานผลขาดทุนสุทธิจากการดำเนินงานปกติ (NIOGO) ไม่รวมภาษีเงินได้รอตัดบัญชี เพิ่มขึ้นเป็น 2.2 พันล้านบาท จากการดำเนินการด้านการตลาดและการขายเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง รวมถึงจากค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้นด้วย
นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร กล่าวว่า “กลุ่มทรูยังคงเสริมความแข็งแกร่งให้กับยุทธศาสตร์คอนเวอร์เจนซ์อย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าแต่ละกลุ่มมากยิ่งขึ้น
การผสมผสานประสิทธิภาพของทั้งคลื่นความถี่ 850 MHz และ 2100 MHz อย่างลงตัว ช่วยตอกย้ำความเป็นผู้นำในการให้บริการ 3G และ 4G LTE ที่ดีที่สุด และมีความพร้อมที่สุดของทรูมูฟ เอช จะเห็นได้จากฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้นเป็น 3.9 ล้านราย ณ สิ้นไตรมาส 2 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ การขยายโครงข่ายบริการบรอดแบนด์ไปสู่ต่างจังหวัดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งครอบคลุมแล้วกว่า 58 จังหวัด ของทรูออนไลน์ รวมถึงการสรรหาคอนเทนต์คุณภาพระดับโลกเพิ่มเติมของทรูวิชั่นส์ ทำให้กลุ่มทรูมีความพร้อมในทุกด้านที่จะเติมเต็มความต้องการของผู้บริโภค”
ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ทรูมูฟ เอช ได้ออกแคมเปญร่วมกับสมาร์ทดีไวซ์หลายรุ่น รวมไปถึงการเปิดตัวสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตคุณภาพระดับโลกภายใต้แบรนด์ทรู บียอนด์ เพื่อเพิ่มประสบการณ์การใช้งาน 3G และ 4G LTE ได้อย่างสูงสุด ด้วยราคาที่เข้าถึงได้ ในขณะที่ทรูออนไลน์ยังเดินหน้าเพิ่มความหลากหลายของแพ็กเกจที่ผสมผสานสินค้าและบริการในกลุ่มทรูอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเปิดตัวแพ็กเกจสุดคุ้ม “สุขX2” มอบความคุ้มค่าที่เพิ่มขึ้นจากการรวมสองบริการในกลุ่มทรู ทั้ง ULTRA hi-speed Internet จากทรูออนไลน์ และเคเบิลทีวีจากทรูวิชั่นส์ อีกทั้ง ทรูวิชั่นส์ได้นำเสนอแพ็กเกจใหม่ที่หลากหลายเพื่อให้เข้าถึงลูกค้าแต่ละกลุ่มได้ง่ายยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเปิดตัว ทรูวิชั่นส์ เอนิแวร์ บริการโมบายล์เพย์ทีวีแบบใหม่ ที่รองรับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค ทำให้สามารถรับชมทรูวิชั่นส์ได้ทุกที่ทุกเวลา และยังมีแผนที่จะขยายการให้บริการช่อง HD เพิ่มมากที่สุดในไทย เหนือกว่าผู้ประกอบการรายอื่น ๆ โดยจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว เป็น 50 ช่อง จาก 23 ช่อง ณ สิ้นไตรมาส 2 ที่ผ่านมา
ความมุ่งมั่นและตั้งใจพัฒนาบริการเพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ลูกค้า ทำให้กลุ่มทรูเป็นองค์กรแรกในประเทศไทยที่ได้การรับรองมาตรฐานคุณภาพระดับโลก COPC-2000 ทั้งคอลล์ เซ็นเตอร์ ของทรูมูฟ เอช และคอลล์ เซ็นเตอร์ ของทรูออนไลน์ ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาจาก COPC (Customer Operation Performance Center) องค์กรระดับโลกที่ให้คำปรึกษาและฝึกอบรมด้านการให้บริการลูกค้า ประเทศสหรัฐอเมริกา อีกทั้งในเดือนกรกฎาคม กลุ่มทรูยังได้รับรางวัล Platinum ในหมวด “ผู้ให้บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตทรูออนไลน์” และรางวัล Gold ในหมวด “ผู้ให้บริการโทรศัพท์ ทรูมูฟ เอช” จากนิตยสารรีดเดอร์ส ไดเจสท์ สิ่งเหล่านี้แสดงถึงความเชื่อมั่นในบริการและการเป็นแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับสูงสุดจากลูกค้า ซึ่งสร้างความมั่นใจได้ว่าธุรกิจของกลุ่มทรูจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง
นายนพปฎล เดชอุดม หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มด้านการเงิน กล่าวว่า “ความสำเร็จจากการออกหุ้นกู้จำนวน 11.2 พันล้านบาท ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สามารถนำไปชำระคืนหนี้สินก่อนกำหนดซึ่งช่วยลดภาระดอกเบี้ยให้กับกลุ่มทรู อีกทั้งแผนเพื่อปรับโครงสร้างทางการเงินของบริษัทฯ ให้ดีขึ้นมีความคืบหน้าและชัดเจนขึ้นในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งน่าจะช่วยปรับโครงสร้างเงินทุนของกลุ่มทรูให้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการลงทุนเพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคตอีกด้วย”