สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป ประจำสัปดาห์ 12-16 ส.ค. 56 และแนวโน้มในสัปดาห์ที่ 19-23 ส.ค. 56

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 19, 2013 14:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--ปตท. ฝ่ายกลยุทธ์และแผนธุรกิจ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สรุปรายงานสถานการณ์น้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน ราคาน้ำมันดิบ เบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 1.96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 109.80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเวสท์ เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 1.80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลอยู่ที่ 106.92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 1.26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 105.82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซิน 95 เพิ่มขึ้น 0.81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 116.36 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.13 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 123.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก - เหตุจากความวุ่นวายในอียิปต์ สำนักงานของบริษัท Royal Dutch Shell ในอียิปต์ต้องหยุดทำการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค. 56 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งยับยั้งการเดินทางเพื่อไปทำธุรกิจในอียิปต์ทั้งหมด ขณะที่ บริษัท BP ยืนยันว่า จนถึงตอนนี้ การผลิตน้ำมันดิบในอียิปต์ยังไม่ได้รับผลกระทบจากการปะทะกันแต่อย่างใด และได้เฝ้าจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด - การประท้วงปิดท่าส่งออกน้ำมันดิบที่สำคัญของลิเบียยังคงยืดเยื้อและไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายได้ในเร็ววัน ไม่ว่าจะ Es Sider (3.5 แสนบาร์เรลต่อวัน), Ras Lanuf (2.5 แสนบาร์เรลต่อวัน), Mellitah (1.6 แสนบาร์เรลต่อวัน), Marsa al Hariga (1.1 แสนบาร์เรลต่อวัน) และ Zueitina (7 หมื่นบาร์เรลต่อวัน) ทั้งนี้ แหล่งผลิตน้ำมันดิบ โรงกลั่นน้ำมัน และท่าส่งออกมีกระบวนการผลิตเดียวกัน การปิดท่าส่งออกทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในปัจจุบันลดลงมาเหลือประมาณ 5-6 แสนบาร์เรลต่อวัน จากปริมาณปกติก่อนการประท้วงที่ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่วนปริมาณการส่งออกลดลงมาต่ำกว่าครึ่งของระดับปกติที่ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน - เพื่อเตรียมการรับมือพายุโซนร้อนที่อาจยกระดับเป็นไซโคลน แหล่งผลิตน้ำมันดิบ Cottonwood (7 หมื่นบาร์เรลต่อวันเทียบเท่าน้ำมันดิบ) ในอ่าวเม็กซิโกของบริษัท Petroleo Brasileiro (Petrobras) ของบราซิลต้องอพยพคนงานและหยุดดำเนินการชั่วคราว หลังจากที่บริษัท Marathon Oil หยุดดำเนินการแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Ewing Bank (9.7 พันบาร์เรลต่อวัน) ไปก่อนหน้านี้ - ท่อขนส่งน้ำมันดิบ Kirkuk-Ceyhan ของอิรัก (ลำเลียงน้ำมันดิบจากแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Kirkuk ของอิรักสู่ท่าส่งออกน้ำมันดิบ Ceyhan ในตุรกี: 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ถูกระเบิดโจมตีเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 56 ที่ผ่านมา คาดว่าต้องใช้เวลาซ่อมแซมราว 2 วัน อนึ่ง ท่อดังกล่าวถูกโจมตีกว่า 30 ครั้งแล้วนับจากต้นปี 56 - Reuters รายงานรัฐบาลจีนกำลังพิจารณาเพิ่มโควตาการนำเข้าน้ำมันดิบรวมของโรงกลั่นน้ำมันอิสระ ซึ่งไม่ใช่ของรัฐบาล (Teapot Refineries) ในปี 57 ในปริมาณ 2 แสนบาร์เรลต่อวันโดยประมาณ ทั้งนี้ ปัจจุบันโควตาการนำเข้าของประเทศกว่า 90% ตกเป็นของบริษัท Sinopec และบริษัท PetroChina ซึ่งเป็นของรัฐบาล ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ - ปัญหาค่าการกลั่นของโรงกลั่นน้ำมันในยุโรปตกต่ำจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นเหตุให้โรงกลั่นในยุโรปลดอัตราการกลั่นในเดือน ส.ค. 56 ลงมาอยู่ที่ 75-80% ลดลงจากเดือนก่อน 5% - Energy Information Administration (EIA) รายงานอัตราการกลั่นของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 9 ส.ค. 56 ลดลง 1.5% จากสัปดาห์ก่อน มาอยู่ที่ 89.4% นับเป็นครั้งแรกที่ลดลงมาต่ำกว่า 90% ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 56 - Mineral Resources Department ของสหรัฐฯ รายงานอัตราการผลิตน้ำมันดิบจากแหล่ง Bakken ซึ่งเป็นน้ำมันดิบที่มาจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) ในเดือน มิ.ย. 56 เพิ่มขึ้น 1 หมื่นบาร์เรลต่อวันเมื่อเทียบกับเดือนก่อน มาอยู่ที่ 8.2 แสนบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ - กระทรวงการคลังญี่ปุ่นรายงานว่าหนี้สาธารณะของประเทศ สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 56 เพิ่มขึ้น 1.7% จาก 3 เดือนก่อน มาอยู่ที่ 1.01 พันล้านล้านเยน หรือ 10.46 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้มีความเป็นไปได้สูงว่ารัฐบาลจะเดินหน้าขึ้นภาษีขาย (Sales Tax) ในเดือน เม.ย. 57 ตามกำหนดการเดิม - สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นรายงานอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาสที่ 2/56 ชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 2.6% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า จากเดิม 3.8% ในไตรมาสก่อนหน้า ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ แนวโน้มราคาน้ำมัน ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent และ NYMEX WTI ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกวันในรอบสัปดาห์ก่อน เนื่องจากความกังวลต่อภาวะอุปทานชะงักงันที่อาจเกิดขึ้นทั้งในแถบตะวันออกกลางและอเมริกาเหนือ โดยเฉพาะการลุกลามบานปลายของเหตุปะทะในอียิปต์ระหว่างกองกำลังฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลรักษาการที่มีกองทัพหนุน กับกลุ่มภราดรภาพมุสลิมที่สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีมอร์ซีซึ่งถูกโค่นล้มอำนาจ ล่าสุด (วันอาทิตย์ที่ 18 ส.ค. 56) ยอดผู้เสียชีวิตตั้งแต่วันพุธที่ 14 ส.ค. 56 ที่ผ่านมาพุ่งขึ้นไปแตะ 850 รายแล้ว ทำให้มีการเกรงกันว่าหากสถานการณ์ยังคงทวีความรุนแรงขึ้นไปเรื่อยๆ อาจส่งผลกระทบต่อการขนส่งน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปผ่านคลองสุเอซของประเทศตะวันออกกลางทั้งหมด (ออกสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเพื่อส่งออกไปยังยุโรปและออกสู่ทะเลแดงเพื่อส่งออกไปยังเอเชีย: 3.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ทั้งนี้ อียิปต์เองยังผลิตน้ำมันดิบได้ 7.28 แสนบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ด้านความคืบหน้าของเหตุประท้วงปิดท่าส่งออกน้ำมันในลิเบีย แม้ว่าโรงกลั่นน้ำมันในท่าส่งออก Ras Lanuf (2.20 แสนบาร์เรลต่อวัน) จะสามารถส่งออก Kerosene ได้แล้ว หลังจากการส่งออกน้ำมันทั้งหมดต้องยุติไปถึง 3 สัปดาห์ แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้ประท้วงยังไม่ยินยอมให้ส่งออกน้ำมันดิบได้ ทำให้เรือบรรทุกน้ำมันกว่า 20 ลำยังคงต้องจอดอยู่นอกชายฝั่ง ขณะที่ศูนย์เฮอร์ริเคนแห่งชาติของสหรัฐฯ รายงานเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 56 ที่ผ่านมาว่าพายุ Erin ที่มุ่งหน้าเข้าสู่เกาะ Cape Verde เริ่มอ่อนกำลังลง กลายเป็นพายุโซนร้อนแล้ว แต่พบว่ามีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของอ่าวเม็กซิโก โดยมีโอกาส 50% ที่จะกลายเป็นไซโคลนใน 48 ชั่วโมงข้างหน้า ทำให้แหล่งผลิตน้ำมันดิบหลายแหล่งในบริเวณดังกล่าวต้องอพยพคนงานและหยุดดำเนินการชั่วคราว และได้เริ่มอพยพคนงานบางส่วนออกจากแหล่งต่างๆ รวมทั้ง Thunder Horse ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมันดิบที่ใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว ทั้งนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในอ่าวเม็กซิโกคิดเป็นปริมาณ 23% ของสหรัฐฯ ส่วนกรอบราคาน้ำมันดิบ ICE Brent ในสัปดาห์นี้ มีแนวรับแนวต้านอยู่ที่ 107.5-112.5 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ส่วน NYMEX WTI อยู่ที่ 106.0-110.0 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และ Dubai อยู่ที่ 104.0-109.0 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ตามลำดับ สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุปทานตึงตัวโดยมีสาเหตุหลักมาจากการปิดซ่อมบำรุงหน่วย Fluid Catalytic Cracking (FCC) ซึ่งเป็นหน่วยผลิตน้ำมันเบนซินของหลายบริษัทในแถบเอเชียตะวันออก อาทิ บริษัท CPC ของไต้หวันประกาศปิดซ่อมบำรุงหน่วย FCC (8 หมื่นบาร์เรลต่อวัน) คาดว่าต้องใช้เวลาราว 2 เดือน และบริษัท SK Energy ของเกาหลีใต้ประกาศว่าหน่วย FCC (7 หมื่นบาร์เรลต่อวัน) ยังคงอยู่ใน Turnaround Mode คาดว่าจะกลับมาดำเนินการได้ในช่วงกลางเดือน ก.ย. 56 เป็นต้น ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 114.0-119.0 เหรียญสหรัฐฯ/ บาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมีสาเหตุหลักจากปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 ส.ค. 56 ลดลง 11.9% มาอยู่ที่ 6.27 ล้านบาร์เรลต่ำสุดในรอบ 5 ปีครึ่ง อย่างไรก็ตาม Reuters คาดว่าบริษัท Sinopec ของจีนจะกลับมาส่งออก Diesel ปริมาณรวม 3.65 แสนบาร์เรล (5 หมื่นตัน) ในเดือน ส.ค. 56 นี้ หลังจากใช้โควตาหมดจนไม่สามารถส่งออกได้ในไตรมาสที่ 2/56 ทั้งนี้รัฐบาลอนุมัติโควตาส่งออก Diesel รวมของทั้งประเทศในไตรมาสที่ 3/56 ที่ 1.53 ล้านบาร์เรล (2.1 แสนตัน) โดยโควตาส่วนใหญ่ตกเป็นของ Sinopec ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 121.6-126.6 เหรียญสหรัฐฯ/ บาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ