กรุงเทพฯ--20 ส.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
“งานเด็กและเยาวชนเป็นเรื่องใหญ่ที่จะทำกัน 2 — 3คนคงจะไม่ประสบความสำเร็จ หากแต่ต้องได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชน เพื่อเป็นแรงผลักดันให้พลังเยาวชนเข้มแข็งมากขึ้น”
นี่คือแนวคิดด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนของนายประเสริฐ สุขจิต นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองลีง อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ ที่กล่าวไว้ในที่ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาชุมชนในท้องถิ่น 4 ภาค หลักสูตรนักถักทอชุมชนเพื่อการพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัวโดยความร่วมมือของ สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)เมื่อไม่นานมานี้
สำหรับสถานการณ์ด้านเด็กและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ นายกอบต.เมืองลีงกล่าวว่า ปัญหาที่ประสบคล้าย ๆ กันคือ เรื่องของเด็กว่างงาน และไปรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมเสี่ยง ปัญหาเด็กท้องก่อนวัยเรียน หรือที่เรียกว่าแม่วัยใส ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยที่ผ่านมาก็พยายามหาแนวทางแก้ไขกันมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการส่งเจ้าหน้าที่ลงไปทำงานใกล้ชิดกับกลุ่มเด็ก จัดอบรมอาชีพ แต่แนวโน้มก็ไม่ได้ดีขึ้นมากนัก
“ที่ผ่านมาเราทำงานกัน แบบขาดการมีส่วนร่วม เมื่อมีปัญหา อบต.ก็คิดกิจกรรม วางแผน และส่งเจ้าหน้าที่ลงไปทำงานกับเด็ก แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ...จนเริ่มมีหลักสูตรนักถักทอชุมชน ที่มูลนิธิสยามกัมมาจลจัดร่วมกับสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข ผมก็เห็นว่าเป็นหลักสูตรที่ดี และเป็นเรื่องใหม่ จึงอยากที่จะให้ตัวนักถักทอเองมีความรู้ และเครื่องมือที่ได้จากการอบรมหลักสูตรนักถักทอชุมชนไปปรับใช้ เพื่อนำไปถักทอคนในชุมชนให้มีภูมิคุ้มกันในสังคม”
นายกฯ อบต. เมืองลีงยังกล่าวอีกว่า เพราะนักถักทอจะเป็นเปรียบเสมือน“เบ้าหลอม” สำคัญในการพัฒนาเด็กและเยาวชนในชุมชนให้มีความแข็งแรง ซึ่งหากนักถักทอไม่มีความรู้ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่และขาดทักษะในการจัดการของตัวเองแล้ว ก็จะไม่มีความต่อเนื่องในการทำงานและไม่สามารถกลับมาพัฒนาคนในชุมชนของตนเองให้เกิดความแข็งแรงได้ทั้งนี้ก็รวมไปถึงการที่ผู้นำเห็นคุณค่าและความสำคัญที่จะผลักดัน พร้อมที่จะสนับสนุนนักถักทอชุมชนอีกด้วย
“ผมมองเห็นประโยชน์โครงการนักถักทอชุมชนเพราะอบต.เมืองลีงเอง ถ้าไม่สามารถที่จะเชื่อมต่อกับชุมชนได้ การพัฒนาต่างๆจะทำได้ยากมากเพราะถ้าหากชุมชนไม่สามารถมองเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับตัวชุมชนเอง ก็จะไม่เกิดการให้ความร่วมมือแต่ถ้ามีนักถักทอชุมชนมาอบรมหลักสูตรต่างๆที่ได้รับจากโครงการนักถักทอชุมชนก็จะสามารถถักทอร้อยต่อกันเป็นเครือข่ายเดียวกันกับชุมชนได้ซึ่งถ้าหากมีเป้าหมายชัดเจน ก็จะทำให้มีการพัฒนาชุมชนที่ดียิ่งขึ้นต่อไป แต่ทั้งนี้ตัวนักถักทอเองก็ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในเชิงของนโยบาย การสนับสนุนและการประสานงานด้วย”