กรุงเทพฯ--20 ส.ค.--เอสซีจี
เราไม่อาจปล่อยให้ชาวประมงมีอาหารสำเร็จรูปรับประทานแต่ไม่มีเรือไว้แล่นหาปลา ไม่อาจปล่อยให้ชาวประมงนั่งมองน้ำมองฟ้าแต่ไร้ซึ่งเครื่องมือทำมาหากิน
หากนึกย้อนไปถึงเหตุการณ์พายุดีเปรสชั่นเมื่อพฤศจิกายน 2553 ที่พัดถล่มพื้นที่จังหวัดสงขลา (อ.หาดใหญ่ อ.จะนะ อ.สะเดา อ.นาหม่อม อ.สทิงพระ อ.สิงหนคร อ.ระโนด) และจังหวัดพัทลุง (อ.ปากพะยูน อ.เขาชัยสน อ.ควนขนุน อ.เมืองพัทลุง) ส่งผลให้เกิดน้ำท่วม สร้างความเสียหายอย่างแสนสาหัสต่อบ้านเรือน เรือ และเครื่องมือประมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 2 พื้นที่ชุมชนซึ่งประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านเป็นหลัก ได้แก่ที่บ้านช่องฟืน อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง และบ้านคูขุด อ.สทิงพระ จ.สงขลา สำหรับชาวประมงแล้ว การสูญเสียเรือ สูญเสียเครื่องมือประมงก็ไม่ต่างอะไรจากคนพิการไร้แขนไร้ขา
ณ เวลานั้น ความช่วยเหลือจากทั่วประเทศหลั่งไหลไปยังผู้คนในพื้นที่ภัยพิบัติอย่างไม่ขาดสาย รวมถึงมูลนิธิเอสซีจี องค์กรสาธารณกุศลที่มุ่งเน้นในการพัฒนา ‘คน’ ตระหนักดีถึงความยากลำบากของชาวประมงพื้นบ้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสูญเสียเรือและเครื่องมือประมงอันเป็นเครื่องมือทำมาหากินของชาวบ้าน จึงได้ร่วมกับสมาคมรักษ์ทะเลไทยให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ชุมชนบ้านช่องฟืนและบ้านคูขุดด้วยการคืนอาชีพแก่ชาวประมง เพื่อที่จะได้กลับมาทำมาหากินเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้โดยเร็วที่สุด
“เราเชื่อว่าคนยังกินปลาอยู่ แต่ว่าเราไม่มีเรือ” บรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทยกล่าว
สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี ย้อนเล่าให้ฟังว่า “เพื่อพลิกฟื้นวิกฤติในครั้งนั้น มูลนิธิเอสซีจีได้ให้ความช่วยเหลือ 2 ระยะ ระยะแรก คือการคืนอุปกรณ์เครื่องมือประมง และสนับสนุนงบประมาณสร้างอู่ซ่อมสร้างเรือชั่วคราว เพราะหากยิ่งช้านั่นย่อมหมายถึงปัญหาปากท้องของชาวประมงและครอบครัว ระยะต่อมาเป็นระยะยั่งยืน มูลนิธิเอสซีจีได้จัดตั้งอู่ซ่อมสร้างเรือถาวร และสนับสนุนงบประมาณสำหรับ ‘กองทุนหมุนเวียนพัฒนาอาชีพประมง’ เพื่อให้ชาวประมงพื้นบ้านทะเลสาบสงขลาได้มีเงินทุนสำหรับประกอบอาชีพในยามปกติ สำหรับทั้ง 2 พื้นที่นี้ มูลนิธิฯ ได้สนับสนุนงบประมาณไปกว่า 1.5 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้เงินทุกบาทของกองทุนก็ยังคงหมุนเวียนให้ความช่วยเหลือชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้การบริหารจัดการอย่างเข้มแข็งของชุมชนเอง”
อย่างไรก็ดี การช่วยเหลือของมูลนิธิเอสซีจีเป็นการช่วยแบบมีเงื่อนไขเพื่อสร้างความยั่งยืนในชุมชน นั่นหมายถึงเป็นการสนับสนุนเงินตั้งต้นก่อนโดยจัดตั้งเป็นกองทุนหมุนเวียนพัฒนาอาชีพประมงขึ้นมา หลังจากนั้นเงินที่ชาวประมงยืมไปก่อร่างสร้างตัวเพื่อพลิกฟื้นจากความเสียหายนั้น จะต้องนำมาใช้คืนตามระยะเวลาที่กำหนดตามข้อตกลงที่สมาชิกกองทุนฯ ได้ตกลงและมีมติเห็นชอบร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการประจำกองทุนเป็นผู้ทำหน้าที่จัดลำดับว่าครอบครัวใดควรได้รับความช่วยเหลือก่อนหรือหลัง ในการชำระคืนกองทุนนั้น หากใครส่งคืนช้ากว่าที่กำหนด ก็จะถูกมาตรการสังคมบังคับไปในตัวเพราะมีเพื่อนรอกู้เงินต่อในหมู่บ้านอีกหลายราย เหตุนี้เองกลไกในการจัดการกองทุนของชุมชนจึงเป็นไปอย่างเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ เพราะทุกคนต่างรู้บทบาทหน้าที่ของตนและคำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้อื่นด้วยเช่นกัน
“มูลนิธิเอสซีจีเข้ามาช่วยเรื่องอาชีพประมงเรื่องเครื่องมือทำมาหากิน มูลนิธิฯ ไม่ได้เอาเงินมาช่วยเราตรงๆ เพราะในเบื้องต้น มาช่วยเรื่องความเสียหาย เรื่องเรือ เครื่องมือประมง อู่ซ่อมสร้างเรือชั่วคราว ต่อมาถึงมาช่วยส่งเสริมอาชีพโดยให้พวกเราคิดกันเอง บริหารกันเองโดยใช้เงินของมูลนิธิฯ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดให้อยู่นานที่สุด หลังจากดีเปรสชั่นเราก็ออมไว้ 60% สำหรับรับมือภัยพิบัติในอนาคต ส่วนอีก 40% ก็ปล่อยให้ชาวประมงกู้เพื่อทำประมง” บังอูสัน แหละหีม แกนนำประมงพื้นบ้าน สมาคมชาวประมงรักษ์ทะเลสาบอำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง
ณ วันนี้ จากบทเรียนความเสียหายครั้งใหญ่ ชุมชนบ้านช่องฟืนไม่เพียงลุกขึ้นยืนอีกครั้งแต่ยังเป็นการก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมีทิศทาง เห็นได้จากการที่ชาวประมงมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ มีเครื่องมือประมง สามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ แม้ว่าอาชีพประมงจะเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงและมีความผันผวนตามสภาพดินฟ้าอากาศก็ตาม แต่การบริหารจัดการที่ดี และกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนที่มีต่อกองทุนหมุนเวียนนี้ ก่อให้เกิดความมั่นคงในการประกอบอาชีพมากกว่าแต่ก่อน ตลอดจนทำให้สมาชิกได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนพูดคุยกันเพื่อแสวงหาแนวทางการพัฒนาชุมชนในมิติอื่นๆ อาทิ การกำหนดเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ การเตรียมแผนและซักซ้อมรับมือภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
“กองทุนฯ ที่มูลนิธิเอสซีจีมาช่วยนี้ ทำให้ชาวประมงได้ลืมตาอ้าปาก ก่อนหน้านี้คนช่องฟืนอพยพไปทำงานในเมือง ทำงานตามโรงงาน แต่พอมีกองทุนฯ นี้ คนก็กลับมาประกอบอาชีพที่บ้านกว่า 90% แล้ว เพราะได้เงินกองทุนฯ มาซื้อเครื่องมือประมง พอมีเครื่องมือก็หาปลาได้ ได้ปลาเอาไปขายก็มีรายได้ มีรายได้ก็เลี้ยงครอบครัวได้ คนก็ไม่ต้องย้ายไปไหน ครอบครัวก็อบอุ่น” บรรจบ นุ้ยแสงทอง ชาวบ้านกลุ่มออมทรัพย์บ้านช่องฟืนกล่าว เช่นเดียวกับที่บ้านคูขุด ปัญหาการถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลางที่ชาวประมงต้องเผชิญ ก่อให้เกิดการรวมตัวเพื่อคิดหาทางแก้ร่วมกันและนั่นคือที่มาของ ‘แพปลาชุมชน’ ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2548 เป็นแพปลาของชุมชน โดยชุมชน และเพื่อชุมชนอย่างแท้จริง “เรามารวมตัวกันเพราะปัญหา ปัญหาบอกเราว่าเราต้องแก้ด้วยกัน ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ เราต้องแก้ด้วยตัวเองก่อน” นิทัศน์ แก้วศรี ประธานสมาคมประมงทะเลสาบอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา
หลังจากดีเปรสชั่น บ้านคูขุดมีการบริหารจัดการกองทุนหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยนำเงินดังกล่าวไปสร้างรายได้โดยเฉพาะเป็นเงินทุนในการประกอบอาชีพประมง เมื่อมีชาวบ้านจับสัตว์น้ำได้ ก็นำไปขายที่แพปลาชุมชน ชาวประมงก็จะมีรายได้มาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว นอกจากนี้ชุมชนเองยังเกิดการเรียนรู้วิธีการบริหารจัดการกองทุนอย่างเป็นระบบ รวมถึงมีการให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และที่สำคัญยังนำมาซึ่งการช่วยคิดช่วยทำของคนในชุมชนอีกด้วย
น้ำอยู่ไกลจะนำมาดับไฟที่อยู่ใกล้ไม่ทัน
กระบวนการสร้างชุมชนสู่ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากคนในชุมชนไม่เป็นผู้ริเริ่มที่จะช่วยเหลือตัวเองก่อน มูลนิธิเอสซีจีทำหน้าที่เป็นเพียงฟันเฟืองหนึ่งที่อาสาร่วมขับเคลื่อนสังคมไปพร้อมๆ กับชาวบ้านเจ้าของชุมชน โดยให้คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา ด้วยเชื่อว่าก้าวที่ยั่งยืนคือก้าวที่คนในชุมชนทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลแก้ปัญหาพื้นที่ของตนเอง เพราะชุมชนเป็นของชาวบ้าน องค์ความรู้ท้องถิ่นก็เป็นของชาวบ้าน เมื่อเกิดปัญหาหรืออุปสรรคใด ผู้ที่เป็นกำลังหลักในการแก้ปัญหาก็ย่อมต้องเป็นชาวบ้าน เพราะไม่มีใครรู้ดีกว่าชาวบ้านผู้เป็นเจ้าของบ้านอย่างแน่นอน
“เราเป็นคนทะเล เกิด แก่ เจ็บ ตายกับทะเล ทะเลให้เราทุกอย่าง ถ้าเราไม่ทำ ไม่รวมตัวกันดูแลทะเล สัตว์น้ำ ต่อไปเราก็ทำประมงไม่ได้ ลูกหลานเราที่ประกอบอาชีพประมงก็จะทำประมงไม่ได้ มันก็จะหายไป มันก็จะไม่ยั่งยืน” บังอูสัน แหละหีม แกนนำประมงพื้นบ้าน สมาคมชาวประมงรักษ์ทะเลสาบอำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง กล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างน่าฟัง