ฟิทช์ จัดอันดับเครดิตให้หุ้นกู้ด้อยสิทธิระยะยาวที่มีลักษณะคล้ายทุนของธนาคารทหารไทยที่ ‘BB-’

ข่าวทั่วไป Monday March 14, 2005 10:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 มี.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ แห่งอังกฤษ ได้ประกาศจัดอันดับเครดิตสากล ที่ระดับ ‘BB-’ (BB ลบ) ให้กับหุ้นกู้ด้อยสิทธิระยะยาวที่มีลักษณะคล้ายทุนซึ่งจัดเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 2 (Upper Tier 2 Capital) ของธนาคารทหารไทย จำนวนรวมไม่เกิน 250 ล้านดอลล่าร์ ซึ่งหุ้นกู้นี้มีอายุ 10 ปี ธนาคารสามารถไถ่ถอนหุ้นกู้ได้เต็มจำนวน ภายหลัง 5 ปี นับจากวันออกหุ้นกู้ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารทหารไทยมีสิทธิที่จะเลื่อนการชำระดอกเบี้ยของหุ้นกู้นี้ ถ้าทางธนาคารไม่มีผลกำไรและไม่สามารถจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นสามัญและผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิได้
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ฟิทช์ได้ปรับเพิ่มอันดับเครดิตของธนาคารทหารไทย หลังจากที่ธนาคารทหารไทยประกาศผลประกอบการเบื้องต้นประจำปี 2547 ซึ่งได้แสดงให้เห็นการฟื้นตัวของความสามารถในการทำกำไร ฟิทช์กล่าวว่าการควบรวมกิจการของธนาคารทหารไทย กับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และธนาคาร DBS ไทยทนุ และการสนับสนุนทางด้านการดำเนินงานจากธนาคาร DBS แห่งสิงคโปร์ น่าจะช่วยให้ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารทหารไทยแข็งแกร่งขึ้นในระยะปานกลาง
รายได้จากการดำเนินงานหลักของธนาคารทหารไทยกำลังปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยอัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยอยู่ที่ 2.1% ในปี 2547 กำไรสุทธิปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 948.2 ล้านบาทในปี 2547 เนื่องมาจากต้นทุนการระดมทุนที่ลดลงหลังจากที่มีการไถ่ถอนหุ้นบุริมสิทธิควบหุ้นกู้ด้อยสิทธิภายหลังจากที่ธนาคารมีผลขาดทุนอย่างมากในปีก่อน การกันสำรองที่ลดลงรวมทั้งการระดมเงินฝากรายย่อยแทนที่การระดมทุนจากการกู้ยืมที่มีต้นทุนสูงของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยประกอบกับการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของสินเชื่อน่าจะส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารเพิ่มขึ้นในปี 2548
การควบรวมกิจการน่าจะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งทางด้านเครือข่ายธุรกิจของธนาคารทหารไทยในระยะปานกลาง โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งอย่างธนาคาร DBS แห่งสิงคโปร์ ธนาคาร DBS ซึ่งขณะนี้ถือหุ้นอยู่ในธนาคารทหารไทยอยู่ 16% จะช่วยสนับสนุนทางด้านเทคนิคในหน่วยงานสำคัญของธนาคารทหารไทยซึ่งรวมไปถึง หน่วยงานด้านสินเชื่อ การระดมทุนและการจัดการความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ที่ทางธนาคารได้รับจากการประหยัดต้นทุนและค่าใช้จ่ายจากการควบรวมกิจการ อาจจะมีข้อจำกัด เนื่องมาจากปัจจัยทางสังคมและการเมืองในการปิดสาขาและลดจำนวนพนักงานแบบมีนัยสำคัญในประเทศไทย
ณ สิ้นปี 2547 ธนาคารทหารไทยมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่จำนวน 64.4 พันล้านบาท หรือ ประมาณ 12.9% ของสินเชื่อทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 35 พันล้านบาท หรือ 11.7% ณ สิ้นปี 2546 เนื่องมาจากการรวมเอาสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและธนาคาร DBS ไทยทนุ เข้ามาไว้ในธนาคาร ระดับสำรองหนี้สูญของธนาคารอยู่ที่ 44.3 พันล้านบาท หรือเท่ากับประมาณ 66.7% ของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งอยู่ในระดับที่สมเหตุสมผล ถึงแม้ว่า สินเชื่อที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ซึ่งอยู่ในระดับสูงจะยังคงก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ทางธนาคารจะต้องกันสำรองหนี้สูญเพิ่มเติมอยู่ อัตราส่วนหนี้เสียหลังหักสำรองต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของธนาคารทหารไทยอยู่ที่ 49% ณ สิ้นปี 2547 ซึ่งน่าจะลดลงจากการที่คุณภาพสินทรัพย์ปรับตัวดีขึ้น
ณ สิ้นปี 2547 อัตราส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 ของธนาคารทหารไทย อยู่ที่ 6% ของสินทรัพย์เสี่ยง และอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งหมดอยู่ที่ 8.8% ของสินทรัพย์เสี่ยง ในขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนเหล่านี้ยังคงต่ำกว่าธนาคารอื่น การฟื้นตัวของผลกำไรของธนาคารในสองถึงสามปีข้างหน้าน่าจะช่วยให้ระดับเงินกองทุนแข็งแกร่งขึ้นได้
ติดต่อ
ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์,
Vincent Milton, กรุงเทพฯ
+662 655 4762/4759
David Marshall, ฮ่องกง
+852 2263 9963--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ