กรุงเทพฯ--21 ส.ค.--วิทยาลัยเทคโนโลสยาม
สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลสยาม ระดับอุดมศึกษาซึ่งได้ทำการสำรวจเยาวชนไทยอายุระหว่าง 15-25 ปี จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพหรือเทียบเท่าระหว่างวันที่ 17 ถึง 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 โดยส่วนใหญ่เยาวชนไทยในกรุงเทพฯชอบสื่อสารผ่านสังคมออนไลน์เพราะความรวดเร็ว
กลุ่มวัยรุ่นนิยมติดต่อสื่อสารกันผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์มากกว่าการติดต่อสื่อสารแบบเจอกันต่อหน้าและการสื่อสารโดยเสียงผ่านทางโทรศัพท์ ซึ่งมีความรวดเร็วตามความต้องการของกลุ่มวัยรุ่งส่งผลให้มีการเขียนข้อความต่างๆ ที่ใช้สื่อสารผิดไปจากหลักภาษาที่ถูกต้องโดยเฉพาะกับข้อความภาษาไทยที่ในปัจจุบันนี้มีการเขียนผิดไปจากหลักภาษาไทยที่ถูกต้องเป็นอย่างมาก เช่น การสะกดตัวพยัญชนะผิด การใช้รูปวรรณยุกต์และรูปสระผิด เป็นต้น ประเด็นดังกล่าวส่งผลให้สังคมทั่วไปโดยเฉพาะกลุ่มผู้ใหญ่ เช่น พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือ กลุ่มนักวิชาการด้านการศึกษาและด้านภาษาไทย แสดงความห่วงใยถึงการเขียนภาษาไทยของกลุ่มวัยรุ่นในปัจจุบันว่าจะส่งผลเสียกับการใช้ภาษาไทยอย่างผิดๆ ในระยะยาวและอาจส่งผลให้คุณค่าของภาษาไทยลดลง
จากที่กล่าวมาข้างต้น สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการเขียนข้อความภาษาไทยบนเครือข่ายสังคมออนไลน์และความคิดเห็นต่อผลกระทบกับการใช้ภาษาไทย ของกลุ่มวัยรุ่นไทยในเขตกรุงเทพมหานคร อายุระหว่าง 15-24 ปี ส่วนใหญ่จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพหรือเทียบเท่าพบสาระสำคัญของการใช้ภาษาไทยหลายประการในจำนวน 1,054 คน ระหว่างวันที่ 8-14 สิงหาคม 2556พบสาระสำคัญของหลักการใช้ภาษาไทย สะกดคำภาษาไทยผิดหลายประการ
ศ. ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ,ดร.กุลธิดา เสาวภาคย์พงศ์ชัย กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการ สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ ร่วมแถลงผลการสำรวจการใช้ภาษาไทยในสังคมออนไลน์ของเยาวชนไทยในกรุงเทพมหานคร สรุปว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 60.53 ยอมรับว่า ตนเองเขียนข้อความภาษาไทยบนสื่อสังคมออนไลน์ผิดไปจากหลักภาษาที่ถูกต้องเป็นประจำ ขณะที่ร้อยละ 29.51 ระบุว่าเขียนผิดบ้าง และมีเพียงร้อยละ 9.96 ที่ระบุว่า ไม่เคยเขียนผิดเลย ส่วนของหลักภาษาที่เขียนผิดบ่อยมากที่สุด กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 45.42 ระบุว่าใช้ตัวสะกดพยัญชนะผิด เช่น อาจารย์ เป็น อาจาน หรือ ครับผม เป็น คับผม หรือ สำคัญ เป็น สำคัน ร้อยละ 21.71 ระบุว่าใช้รูปสระผิด เช่น ก็ เป็น ก้อ หรือ อะไร เป็น อารัย หรือ เปิดเทอม เป็น เปิดเทิม และ ร้อยละ 17.28 ระบุว่าใช้รูปวรรณยุกต์ผิด เช่น หนู เป็น นู๋ หรือ น่ารัก เป็น หน้ารัก ขณะเดียวที่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 69.97 ระบุว่าการเขียนข้อความภาษาไทยบนสื่อสังคมออนไลน์ที่ผิดไปจากหลักภาษาที่ถูกต้องนั้นเกิดจากความตั้งใจ ขณะที่มีเพียงประมาณหนึ่งในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 24.55 ที่ระบุว่าไม่ได้ตั้งใจ
สำหรับสาเหตุสำคัญที่กลุ่มตัวอย่างเขียนข้อความภาษาไทยบนสื่อสังคมออนไลน์ผิดไปจากหลักภาษาที่ถูกต้องสูงสุด 5 อันดับคือ ลดความเป็นทางการในการสื่อสาร คิดเป็นร้อยละ 78.29 เขียนได้ง่ายกว่าการเขียนตามหลักภาษาที่ถูกต้อง คิดเป็นร้อยละ 76.71 ช่วยให้สื่อสารได้เร็ว คิดเป็นร้อยละ 72.08 ใช้ตามผู้อื่น คิดเป็นร้อยละ 68.70 และ เข้ากับยุคสมัย คิดเป็นร้อยละ 65.86 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 46.47 ระบุว่า เพราะตนเองไม่ทราบหลักภาษาที่ถูกต้องในการเขียน
ส่วนผลกระทบจากการเขียนข้อความภาษาไทยบนสื่อสังคมออนไลน์ผิดไปจากหลักภาษาที่ถูกต้องกับการใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวัน กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 47.53 และ ร้อยละ 47.15 ระบุว่าการเขียนข้อความภาษาไทยบนสื่อสังคมออนไลน์ที่ผิดไปจากหลักภาษาที่ถูกต้องไม่ส่งผลให้การเขียนข้อความภาษาไทยทั่วไปในชีวิตประจำวันผิดมากขึ้น และไม่ส่งผลให้ความรู้ในหลักภาษาไทยที่ถูกต้องลดลง ตามลำดับ นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 46.4 ระบุว่า การเขียนข้อความภาษาไทยบนสื่อสังคมออนไลน์ที่ผิดไปจากหลักภาษาที่ถูกต้องไม่ส่งผลให้ความสามารถในการเขียนภาษาไทย เช่น การบ้าน รายงาน เรียงความ หรือ บทความ ลดลง และร้อยละ 49.62 ระบุว่า ไม่ส่งผลให้ทักษะการใช้ภาษาไทยโดยรวมในด้านการฟัง พูด อ่าน เขียน ลดลง เช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างมากกว่าหนึ่งในสี่กลับระบุว่า การเขียนข้อความภาษาไทยบนสื่อสังคมออนไลน์ที่ผิดไปจากหลักภาษาที่ถูกต้องจะส่งผลปานกลางถึงมากให้การเขียนข้อความภาษาไทยทั่วไปในชีวิตประจำวันผิดมากขึ้น ความรู้ในหลักภาษาไทยที่ถูกต้องลดลง ความสามารถในการเขียนภาษาไทย เช่น การบ้าน รายงาน เรียงความ หรือ บทความลดลง และ ส่งผลให้ทักษะในการใช้ภาษาไทยโดยรวมในด้านการฟัง พูด อ่าน เขียน ลดลง และ กลุ่มตัวอย่างถึงเกือบหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 30.55 ระบุว่า การเขียนข้อความภาษาไทยบนสื่อสังคมออนไลน์ที่ผิดไปจากหลักภาษาที่ถูกต้องส่งผลปานกลางถึงมากให้คุณค่าของภาษาไทยลดลง