กรุงเทพฯ--21 ส.ค.--จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะนำนวัตกรรม Silver Nano สามารถผลิตได้เองในประเทศไทย ไม่มีความจำเป็นต้องนำเข้าวัสดุนาโนจากต่างประเทศ พร้อมแบ่งปันองค์ความรู้ ส่งเสริมการใช้งานภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ นายแพทย์ ดร. สิทธิชัย ทัดศรี รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า “ยอดจำหน่ายนาโนเทคโนโลยีทั่วโลกในปี พ.ศ. 2552 อยู่ที่ 11,671.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 373,481.60 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 26,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 832,000 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2558 อัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีอยู่ที่ร้อยละ 11.10 โดยตลาดที่เติบโตมากที่สุดคือ วัสดุนาโน (Nanomaterials) ซึ่งมีมูลค่าเกือบ 19,621.70 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 627,894.40 ล้านบาทภายในปี พ.ศ. 2558 รองลงมาก็จะเป็น เครื่องมือสำหรับการสังเคราะห์วัตถุในระดับนาโน (Nanotools) และอุปกรณ์ที่มีระดับมาตราส่วนระดับนาโน (Nanodevices)
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะเสาหลักของแผ่นดิน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษา วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอย่างจริงจัง โดยมอบหมายให้ศูนย์นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีนั้น พัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่องทั้งในด้านวิชาการและอุตสาหกรรมพาณิชย์ และหนึ่งในความสำเร็จ นั่นคือ Silver Nano อนุภาคขนาดนาโนของซิลเวอร์หรือโลหะเงิน สารที่มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคที่เป็นต้นเหตุ ของอาการเจ็บป่วยได้มากกว่า 650 ชนิด
ปัจจุบัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเจ้าของเทคโนโลยีดังกล่าวเอง ทำให้อุตสาหกรรมไทย ผู้ประกอบการไทย สามารถใช้ Silver Nano ได้ในราคาที่แข่งขันได้กับนานาประเทศ ไม่จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศอีกต่อไป และมีความยินดีที่จะแบ่งปันองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการ นักวิชาการ และสาธารณชนที่สนใจ เพื่อร่วมมือกันพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนด้วยกันตลอดไป”
ศูนย์นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มคณาจารย์และนักวิจัยที่มีประสบการณ์จากหน่วยงานและสถาบันต่าง ๆ เพื่อบูรณาการความรู้และงานวิจัยที่หลากหลายให้เกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ และพัฒนาต่อให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งทางด้านการวิจัย สร้างหลักสูตรและบุคลากรด้านนาโนเทคโนโลยีที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและโอกาสความเป็นผู้นำด้านนาโนเทคโนโลยีของประเทศ
รองศาสตราจารย์ ดร. สนอง เอกสิทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวัสดุ ศูนย์นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ในยุคเศรษฐกิจโมเลกุล หรือ เป็นที่รู้จักทั่วไปในชื่อ ยุคนาโนเทคโนโลยี (Nano Technology) ซึ่งเป็นยุคที่แต่ละประเทศต้องชิงความได้เปรียบในการสร้างความมั่งคั่งและอำนาจการแข่งขันให้กับประเทศ โดยการพัฒนาองค์ความรู้และสร้างนวัตกรรมใหม่จากเทคโนโลยีชั้นสูงที่ไม่ก่อมลภาวะ นาโนเทคโนโลยี ช่วยในการจัดการปัญหาหลายด้านที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพ น้ำสะอาด การผลิตกระแสไฟฟ้า และการจัดเก็บข้อมูล เป็นต้น รวมทั้ง นาโนเทคโนโลยี ก่อให้เกิดการพัฒนาและเติบโตทั้งภาคอุตสาหกรรมและแรงงาน คาดการณ์ว่า นักวิทยาศาสตร์นาโนเทคโนโลยี จะเป็นที่ต้องการของตลาดทั่วโลกถึง 2 ล้านราย ในปี พ.ศ. 2558”
นาโนเทคโนโลยี เป็นกระบวนการสร้าง การสังเคราะห์ วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องจักร หรือผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีขนาดเล็กมากในระดับนาโนเมตร (ขนาด 0.1 - 100 นาโนเมตร) เทียบเท่ากับ ระดับอนุภาคของโมเลกุล หรืออะตอม ทำให้โครงสร้างของวัสดุหรือสสารเหล่านั้น มีคุณสมบัติพิเศษ ไม่ว่าทางด้านฟิสิกส์ เคมี หรือชีวภาพ ส่งให้มีผลประโยชน์ต่อผู้ใช้สอย
ทั่วโลกมีการเติบโตด้านสินค้านาโนภายในระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2549-2554) มากถึงร้อยละ 521 มีสินค้านาโนที่จดทะเบียน 1,317 ผลิตภัณฑ์หรือสายการผลิต (Products and Product Lines) โดยกลุ่มสินค้าที่ได้นำนาโนเทคโนโลยีมาใช้มากที่สุด คือ กลุ่มสินค้าสุขภาพและความงาม ซึ่งมีมากถึง 738 ผลิตภัณฑ์หรือสายการผลิต โดยเฉพาะเครื่องสำอางและครีมกันแดด
กลุ่มวัตถุดิบที่นิยมนำมาพัฒนาด้วยนาโนเทคโนโลยี เป็นวัสดุนาโน ประกอบด้วย เงิน (Silver) 313 รายการ คาร์บอน (Carbon) 91 รายการ ไททาเนียม (Titanium) 59 รายการ ซิลิกา (Silica) 43 รายการ ซิงก์ (Zinc) 31 รายการ และทองคำ (Gold) 28 รายการ
“จุฬาฯ ได้ศึกษาและพัฒนา Silver Nano มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 พบว่า Silver Nano จะทำปฏิกริยากับสารโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบของเอนไซม์ที่จำเป็นของจุลชีพ ทั้งจุลินทรีย์ แบคทีเรีย และไวรัส ปฏิกริยาดังกล่าว จะทำลายผนังเซลล์ของจุลชีพ ส่งผลให้ DNA ของจุลชีพหยุดทำงาน และตายในที่สุด ซึ่งเป็นคุณสมบัติเด่นที่ได้นำมาพัฒนาใช้ในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม แต่คุณสมบัติอีกประการ ได้แก่ การนำความร้อนและไฟฟ้า ก็ได้นำมาพัฒนาไปควบคู่กัน Silver Nano ช่วยเพิ่มความสามารถในการแปรเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์สู่พลังงานไฟฟ้าได้มากกว่าเดิมร้อยละ 10 ในระยะกลาง และเพิ่มขึ้นร้อยละ 60 ในระยะยาว และช่วยให้การใช้พลังงานแบตเตอรี่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ขนาดเบาขึ้น และมีอายุใช้งานนานมากยิ่งขึ้น ในกลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ หรือ รถยนต์ อนาคตอันใกล้ เทคโนโลยีดังกล่าว จะทำให้สามารถจุพลังงานได้เพิ่มมากกว่าแบตเตอรี่ลิเธียม 5-10 เท่า และจะพัฒนาไปสู่อุปกรณ์บรรจุหรือเก็บพลังงานให้ได้มากขึ้นด้วยขนาดที่เล็กลง”
เป้าหมายของการพัฒนานาโนเทคโนโลยของจุฬาฯ เพื่อบริหารความหลากหลายขององค์ความรู้ที่มีอยู่ ให้เกิดการบูรณาการ อาศัยการทำงานร่วมกันของทั้งนักวิจัย นักนาโนเทคโนโลยีจากหลากหลายสาขา ทั้งวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ รวมทั้งภาคอุตสาหกรรม นำไปสู่การพัฒนาภาคเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ให้สามารถเติบโตและแข่งขันได้ในตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้” รองศาสตราจารย์ ดร. สนอง เอกสิทธิ์ กล่าวสรุป
ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ห้อง 1115 อาคารมหามกุฏ ชั้น 11 คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทรศัพท์ 02-218-7602 โทรสาร 02-218-7603 อีเมล์ nano@chula.ac.th
ทีมประชาสัมพันธ์
ทีมประชาสัมพันธ์ คุณสราวุธ บูรพาพัธ โทรศัพท์ 085 071 0071
คุณชัยกรณ์ รอดรัก โทรศัพท์ 083 494 7740
คุณสุภาภรณ์รุ่งเจริญเกียริต โทรศัพท์ 084 090 1212
โทรสาร 02 575 2418
อีเมล์ MARCOMMSTHAI@GMAIL.COM