กรุงเทพฯ--23 ส.ค.--ไอแอมพีอาร์
การเชิดหุ่นเป็นมหรสพไทยที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยโบราณ เช่น หุ่นกระบอก หุ่นหลวง หุ่นละครเล็กเป็นต้น ซึ่งถือเป็นมรดกด้านศิลปะการแสดงที่ทรงคุณค่า แต่มหรสพต่างๆ เหล่านี้หาดูได้ยากและกำลังกลายเป็นอดีตที่คนไทยลืมเลือน จึงมีคนกลุ่มเล็กๆ พยายามพัฒนาต่อยอดสิ่งใหม่ ด้วยการสร้างสรรค์ศิลปะ “หุ่นคน” การแสดงรูปแบบใหม่ที่เกิดจากการผสมผสานศิลปะหลายแขนง ที่นำเสนอรากเหง้าความเป็นไทย อีกทั้งแฝงเอกลักษณ์ของมหรสพไทยโบราณไว้อย่างแยบยล งดงาม และประณีต
นายสุกฤตาวัฒน์ บำรุงพานิช หรือ “ครูจอม” หัวหน้าแผนกส่งเสริมและเผยแพร่ศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติฯ ผู้ให้กำเนิดศิลปะการแสดงหุ่นคน อธิบายว่า การแสดงหุ่นคนถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ.2539 โดยตนเป็นผู้ออกแบบและแสดงด้วยตนเองในลักษณะการรำมโนราห์ แล้วมีเพื่อนอีกคนหนึ่งแสดงท่าทางเชิดประกบอยู่ด้านหลัง ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นอย่างมาก และได้แสดงหุ่นคนเรื่อยมาในงานต่างๆ แม้จะเป็นการแสดงที่สวยงามแปลกตาแต่ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักมาก เมื่อมีโอกาสได้เป็นอาจารย์สอนนาฎศิลป์ไทยในชมรมนาฎศิลป์ของมหาวิทยาลัยหัวเฉียวฯ ในปีพ.ศ.2544 จึงได้เริ่มถ่ายทอดการแสดงหุ่นคนให้แก่นักศึกษา เมื่อนำไปแสดงในประเพณีรับบัวโยนบัวของจังหวัดสมุทรปราการและมีภาพปรากฏในโทรทัศน์ ทำให้การแสดงหุ่นคนโด่งดังเพียงข้ามคืน
“การแสดงหุ่นคนเกิดจากการนำวิธีการเชิดหุ่นชนิดต่างๆ ทั้งหุ่นกระบอก หุ่นละครเล็ก ฯลฯ มาผสมผสานกับการระบำรำฟ้อนของไทย รวมถึงการแสดงศิลปะแบบสากล พร้อมทั้งสร้างสรรค์ให้มีความแปลกใหม่ด้วยการเปลี่ยนจากตัวหุ่นเป็นคน โดยแต่งกายและออกลีลารำฟ้อนเหมือนหุ่นไม่ผิดเพี้ยน ส่วนคนเชิดด้านหลัง 3 คนจะแต่งกายในชุดสีดำสนิท และสิ่งที่ทำให้คนดูสนใจคือคนเชิดและหุ่นคนจะแสดงลีลาท่าทางเดียวกันอย่างพร้อมเพรียง งดงามและอ่อนช้อย เมื่อการแสดงหุ่นคนเริ่มได้รับความนิยมเรื่อยมา จึงทำให้มีนักศึกษาขอสมัครเรียนเป็นจำนวนมาก เราจึงใช้โอกาสนี้ถ่ายทอดความรู้ให้อย่างเต็มที่ เพราะเมื่อเด็กเปิดใจรับการแสดงไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ก็ถือเป็นโอกาสดีที่เด็กรุ่นใหม่จะได้ร่วมสืบทอดศิลปะการแสดงของไทย” ครูจอมเล่า
“หุ่นคน” เป็นศิลปะการแสดงที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ โดยผสานศิลปะหลายแขนงไว้ด้วยกัน ได้แก่ งานด้านหัตถศิลป์ การสร้างองค์ประกอบของหุ่น ประณีตศิลป์ การสร้างเครื่องแต่งกาย นาฏศิลป์ การใช้ลีลา ท่าเชิด การร่ายรำ และ คีตศิลป์ การสร้างสรรค์ดนตรีประกอบ โดยเป็นศิลปะการแสดงที่ถ่ายทอดสู่ผู้ชมผ่านเรื่องราวในวรรณคดีไทย ที่หลายๆ คนรู้จัก เช่น รามเกียรติ์ พระสุธน-มโนราห์ ฯลฯ ซึ่งมีเนื้อหาสอดแทรกหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา อาทิ การสำนึกในบาปบุญคุณโทษ การตอบแทนผู้มีพระคุณ เป็นต้น เพื่อให้ผู้ชมการแสดงได้รับทั้งความเพลิดเพลิน และแนวคิดที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต
ด้าน นายวิชาญ บุญดำ ผู้ช่วยฝึกสอนศิลปะการแสดงหุ่นคน เล่าว่า ได้เรียนศิลปะการแสดงหุ่นคนจากครูจอมตั้งแต่ปีพ.ศ.2546 เนื่องจากมีใจรักในวิชานาฎศิลป์ ซึ่งได้รับการสอนให้เป็นทั้งคนเชิดและหุ่นคนซึ่งมีความยากเหมือนกันทั้ง 2 ตำแหน่ง ผู้ที่เป็นคนเชิดต้องมีร่างกายแข็งแรงเพื่อรับน้ำหนักของนักแสดงในตำแหน่งหุ่นคน ส่วนผู้ที่เป็นหุ่นคนต้องออกลีลาฟ้อนรำให้เหมือนหุ่นขณะถูกยกขึ้นกลางอากาศและสามารถเปลี่ยนท่าทางได้โดยไม่ติดขัด
“หุ่นคนจึงเป็นศิลปะการแสดงที่ต้องทุ่มเทฝึกซ้อมอย่างเต็มที่เพื่อให้การแสดงออกมาดีที่สุด ทุกครั้งที่ได้ออกแสดงจะรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ถ่ายทอดศิลปะการแสดงของไทยให้คนอื่นได้รู้จัก ถึงทุกวันนี้จะเป็นแค่หน่วยเล็กๆ แต่ก็พยายามถ่ายทอดความรู้ให้แก่น้องๆ รุ่นใหม่อยู่เสมอ เพื่อสืบสานศิลปะการแสดงของไทยให้คงอยู่ต่อไป และถือเป็นการพัฒนาฝีมือตนเองให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นด้วย” นายวิชาญกล่าว
นายจีระวัฒน์ คุ้มเพชร นักแสดงหุ่นคนตำแหน่งคนเชิด เปิดเผยว่า การเรียนศิลปะการแสดงหุ่นคนนั้น นอกจากจะได้เรียนรู้ศิลปะการแสดงแล้ว ยังได้รับการพัฒนาทักษะด้านอื่นๆ ที่สามารถนำไปปรับใช้ในการทำงานและชีวิตประจำวันได้อีกด้วย
“ปัจจุบันผมทำงานเป็นนักสังคมสงเคราะห์ ในแต่ละวันเราต้องพบเจอผู้คนหลากหลาย ซึ่งจากที่ได้เรียนศิลปะการแสดงหุ่นคนทำให้เป็นคนมีความใจเย็น อดทน และสามารถเข้ากับผู้อื่นได้ดี ช่วยให้ทำงานได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ และทุกครั้งที่มีเวลาว่างก็จะกลับมาช่วยแสดงในงานต่างๆ เพราะทุกครั้งที่แสดงก็จะเกิดการเรียนรู้และได้รับแรงบันดาลใจใหม่ๆ กลับมาเสมอ” นายจีระวัฒน์เล่า
ณ วันนี้ ศิลปะการแสดงหุ่นคน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวฯ เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางไปทั่วโลก ส่วนใหญ่เกิดจากการกล่าวถึงและแนะนำแบบปากต่อปาก เพราะการแสดงแต่ละชุดมีความแปลกใหม่และสร้างความตื่นตาตื่นใจให้ผู้ชมได้อยู่เสมอ และยังทำให้ศิลปะการเชิดหุ่นแบบต่างๆ กลับเป็นที่รู้จักอีกครั้ง
“หัวใจสำคัญที่จะทำให้ศิลปวัฒนธรรมไทยไม่มีวันตาย คือการออกแบบชุดการแสดงให้น่าสนใจโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ของนักแสดงที่สรรหาความแปลกใหม่มาสร้างสีสันให้การแสดงอยู่เสมอ เช่น การประยุกต์เรื่องราวให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน เรียกว่าเป็นการปรับโฉมของเก่าที่ดีอยู่แล้วให้ทันสมัยถูกใจคนรุ่นใหม่ แต่ยังคงไว้ด้วยความเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะการเชิดหุ่น ทั้งหุ่นกระบอก หุ่นละครเล็ก หนังตะลุง ฯลฯ ทำให้ผู้ชมได้ระลึกถึงศิลปะการเชิดแบบโบราณ และอยากดูศิลปะการเชิดหุ่นต้นแบบ แทนที่จะปล่อยให้เป็นมรดกเก่าเก็บในพิพิธภัณฑ์ที่ทุกคนหลงลืม” หัวหน้าแผนกส่งเสริมและเผยแพร่ศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติฯ กล่าวสรุป