กรุงเทพฯ--23 ส.ค.--มูลนิิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
เมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย โดยโครงการเครือข่ายเมืองในเอเชียเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ACCCRN) และโครงการเสริมสร้างการรับมือของเมืองกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (M-BRACE) ภายใต้ความร่วมมือกับองค์กร ISET จัดเวทีระดมความคิดเห็นระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากหน่วยงานรัฐระดับนโยบายภายใต้การประชุมหารือด้านนโยบาย ครั้งที่ 1 (The 1st National-Local Stakeholders Consultation for Policy Dialogues) ในประเด็นเกี่ยวกับกระบวนการกลายเป็นเมือง และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการสนับสนุน เผยแพร่ และขยายผลบทเรียนการรับมือของเมืองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ ห้องประชุมธีระพันธุมวนิช อาคารมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย โดย ดร. ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เป็นประธานเปิดการประชุม
ทั้งนี้มีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่มีอำนาจตัดสินใจเข้าร่วม นำโดย นายรัชทิน ศยามานนท์ อดีตคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ดร.ธงชัย โรจนกนันท์ กรมโยธาธิการและผังเมือง นางพรทิพย์ จัยสิน ผอ.สำนักฯ สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (GSEI) ร่วมด้วยนักวิเคราะห์นโยบายฯ จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และผู้แทนท้องถิ่นจาก 4 เมืองภายใต้โครงการ ACCCRN และ M-BRACE ได้แก่ เชียงราย หาดใหญ่ อุดรธานี ภูเก็ต และ 2 เมืองเครือข่าย ได้แก่ ทุ่งสงและขอนแก่น
ในที่ประชุมร่วมถกประเด็นเกี่ยวกับกระบวนการกลายเป็นเมือง หรือ Urbanization ของประเทศไทยในปัจจุบันที่มีรูปแบบการขยายตัวแบบไร้ทิศทาง ขาดแผนการรองรับที่ดี โดยเฉพาะการวางผังเมือง ส่งผลให้เมืองมีความล่อแหลมและมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับภัยต่างๆ เช่น น้ำท่วม การขาดแคลนน้ำ และหากมีผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้ามาเกี่ยวข้องจะทำให้ภัยที่ได้รับทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น สิ่งสำคัญ คือ เมืองต้องมีความพร้อมในการรับมือ ซึ่งการรับมือนั้นต้องคำนึงถึงทั้งระบบของเมือง เช่น การวางผังเมือง โครงสร้างพื้นฐาน ระบบนิเวศ การบริหารจัดน้ำ เพราะแต่ละระบบต่างมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน ปัจจุบันทั้ง 4 เมืองภายใต้โครงการ ACCCRN และ M-BRACE รวมทั้ง 2 เมืองเครือข่าย ต่างดำเนินกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพการรับมือของเมืองอยู่แล้ว และหวังว่าผลการดำเนินงานจะสามารถเป็นต้นแบบเมืองที่มีการรับมือที่ดีเพื่อนำไปสู่การขยายผลได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตามการประชุมในครั้งนี้นับเป็นโอกาสที่ดี เพื่อเป็นเวทีสื่อกลางให้ผู้แทนจากภาครัฐระดับนโยบายและระดับท้องถิ่นมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อร่วมหาแนวทางส่งเสริมกิจกรรมด้านการรับมือของเมืองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Urban Climate Resilience ที่ท้องถิ่นดำเนินอยู่ นำไปสู่การมีส่วนร่วมวงกว้างในระดับชาติและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย เพื่อให้เมืองในประเทศไทยมีการพัฒนาที่ควบคู่กับการคำนึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเมืองและเมืองมีความสามารถในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน
ติดต่อ:
โครงการเครือข่ายเมืองในเอเชีเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ACCCRN)
มูลนิิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
โทร. 0 2503 3333 e-mail: thaicityclimate.org
www.thaicity-climate.org, www.tei.or.th