กรุงเทพฯ--23 ส.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แนะประชาชนเรียนรู้วิธีเลือกใช้ถังดับเพลิงอย่างถูกวิธี เหมาะสมกับสถานที่และประเภทของเชื้อเพลิง พร้อมศึกษาวิธีดับเพลิงอย่างถูกต้อง ตามขั้นตอนสำคัญ “ดึง กด ปลด ส่าย” เพื่อให้สามารถระงับเหตุเพลิงไหม้ได้อย่างรวดเร็ว และควบคุมเพลิงมิให้ขยายวงกว้าง ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า อัคคีภัยเป็นภัยใกล้ตัวที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ถังดับเพลิงจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยระงับเหตุเพลิงไหม้มิให้ลุกลามและขยายวงกว้างเพิ่มมากขึ้น เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขอแนะประชาชนเรียนรู้วิธีเลือกใช้ถังดับเพลิงและวิธีดับเพลิงอย่างถูกวิธี ดังนี้ เลือกใช้ถังดับเพลิงให้เหมาะสมกับสถานที่ โดยบริเวณนอกอาคาร ควรใช้ถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง ซึ่งมีลักษณะเป็นฝุ่นฟุ้งกระจาย ส่วนบริเวณภายในอาคารหรือสำนักงานที่มีเอกสาร อุปกรณ์ไฟฟ้า และเครื่องใช้สำนักงานจำนวนมาก ควรใช้ถังดับเพลิงชนิดเหลวระเหย เนื่องจากไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งของ และเหมาะสำหรับการดับเพลิงไหม้ที่มีสาเหตุจากไฟฟ้าลัดวงจร สำหรับบริเวณห้องครัว ซึ่งมักมีคราบน้ำมันอาจทำให้เพลิงไหม้ลุกลาม ควรใช้ถังดับเพลิงชนิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ควบคู่กับชนิดโฟม จะช่วยควบคุมเพลิงไหม้ได้ เลือกใช้ถังดับเพลิงให้เหมาะสมกับประเภทของเชื้อเพลิง กรณีเพลิงไหม้วัสดุติดไฟง่าย เช่น กระดาษ ผ้า ไม้ ยาง พลาสติก เป็นต้น ควรใช้ถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้งหรือใช้น้ำฉีดพ่นไปที่ต้นเพลิงจนกว่าเพลิงสงบ กรณีเพลิงไหม้ก๊าซไวไฟ เช่น น้ำมัน สี แลกเกอร์ จารบี ก๊าซหุงต้ม เป็นต้น ควรใช้ถังดับเพลิงชนิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จะช่วยลดความร้อนและกำจัดออกซิเจน ทำให้เพลิงไม่ลุกลามมากขึ้น หากไม่มีถังดับเพลิงให้ใช้ผ้าหนาๆ ชุบน้ำ หรือนำทรายมาโปะบริเวณที่เกิดเพลิงไหม้ จะช่วยควบคุมการลุกลามของไฟได้ กรณีเพลิงไหม้เครื่องใช้ไฟฟ้า ให้รีบตัดกระแสไฟฟ้า และใช้ถังดับเพลิงชนิดเหลวระเหยฉีดพ่น ห้ามใช้น้ำหรือถังดับเพลิงชนิดฟองโฟมอย่างเด็ดขาด เพราะน้ำและโฟมเป็นสื่อนำไฟฟ้า อาจทำให้ถูกไฟฟ้าดูดเสียชีวิตได้ กรณีเพลิงไหม้โลหะติดไฟ เช่น อลูมิเนียม แม็กนีเซียม เป็นต้น ห้ามใช้น้ำดับอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดการระเบิดอย่างรุนแรง ควรใช้ผงเกลือแกงหรือทรายแห้ง จะช่วยควบคุมการลุกไหม้ของโลหะได้ สำหรับวิธีการใช้ถังดับเพลิงเคมี ควรปฏิบัติตามหลัก “ดึง กด ปด ส่าย” ใน ๔ ขั้นตอน ได้แก่ ดึง โดยดึงสลักนิรภัยออกจากคันบีบบริเวณหัวถังดับเพลิง หากดึงไม่ออกให้ใช้วิธีบิดก่อนแล้วค่อยดึง ปลด ปลดสายฉีดน้ำออกจากตัวถังดับเพลิง โดยดึงจากปลายสายและใช้มือจับอย่างมั่นคง กด กดคันบีบด้านบนของถังดับเพลิงเพื่อฉีดพ่นสารเคมีไปยังต้นเพลิง ส่าย ส่ายหัวฉีดของถังดับเพลิงไปให้ทั่วบริเวณฐานไฟหรือต้นเพลิง โดยผู้ใช้งานควรอยู่ห่างจากบริเวณที่เกิดเพลิงไหม้ประมาณ ๒ — ๔ เมตร จะช่วยให้การดับเพลิงมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ท้ายนี้ การเลือกใช้ถังดับเพลิงให้เหมาะสมกับสถานที่และประเภทของเชื้อเพลิง รวมถึงการเรียนรู้วิธีใช้ถังดับเพลิงอย่างถูกวิธี จะช่วยให้สามารถระงับเหตุเพลิงไหม้ได้อย่างรวดเร็วและควบคุมเพลิงไหม้มิให้ขยายวงกว้างได้