กรุงเทพฯ--23 ส.ค.--สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
นายคณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) ได้ลงนามในหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะคปก. เรื่อง ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ .. ) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 111 มาตรา 112 มาตรา 115 มาตรา 116 วรรคสอง มาตรา 117มาตรา 118 มาตรา 120และมาตรา241 วรรคหนึ่ง และยกเลิกมาตรา 113 และมาตรา 114)เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน
จากการศึกษาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พุทธศักราช .... และจากสำรวจ ศึกษา และวิเคราะห์ทางวิชาการ ประกอบกับการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง คปก.มีความเห็นว่า การแก้ไขคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามและการยกเลิกข้อห้ามต่างๆเป็นการไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ สำหรับประเด็นคณะกรรมการสรรหาตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 113ของรัฐธรรมนูญนั้น อาจไม่สอดคล้องเหมาะสม หากจะปรับปรุงเห็นควรปรับปรุงในส่วนของคณะกรรมการสรรหาให้มีความเชื่อมโยงกับประชาชน ในกลุ่มวิชาชีพ และสาขาอาชีพต่าง ๆ เพื่อให้เป็นหลักประกันว่าคณะกรรมการสรรหาดังกล่าวจะได้ทำหน้าที่ในการสรรหาผู้ที่มีความรู้ ประสบการณ์และมีความหลากหลาย เพื่อให้วุฒิสภามีความเป็นกลาง โปร่งใสและปลอดจากการแทรกแซงใด ๆ
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มีเจตนารมณ์ที่จะสร้างความโปร่งใสและสร้างดุลยภาพในฝ่ายนิติบัญญัติ โดยการกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการตรวจสอบและกลั่นกรองกระบวนการนิติบัญญัติรวมถึงการพิจารณาเลือก แต่งตั้ง ให้คำแนะนำ หรือให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ และการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง วุฒิสภาจึงควรมีความเป็นกลาง ปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง
ดังนั้น การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าว คปก.เห็นว่าควรคำนึงถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญประกอบด้วย การยกเลิกข้อห้ามทั้งสามกรณีดังกล่าวมีลักษณะที่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่าง ๆ สามารถมาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาได้ทันที เช่นนี้ย่อมเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อดุลยภาพของรัฐธรรมนูญโดยภาพรวม อีกทั้งยังเป็นการเอื้อให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่าง ๆ อาจเข้าแทรกแซงและครอบงำวุฒิสภาได้ เป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้สมาชิกวุฒิสภามีความ เป็นกลาง โปร่งใสและปลอดจากการแทรกแซงใด ๆ
“ระบบรัฐสภาที่มีศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรในการถ่วงดุลยภาพ” นั้น จะสามารถทำหน้าที่ได้โดยอิสระและสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยสุจริตเที่ยงธรรมได้นั้น การได้มาของตุลาการและกรรมการขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ จะต้องปราศจากการแทรกแซงทางการเมืองของอำนาจฝ่ายต่าง ๆ ให้กระบวนการในการสรรหาตุลาการและกรรมการขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญสามารถ สรรหาผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่นั้น ๆ ภายใต้สภาวการณ์เช่นนี้ย่อมทำให้ความมุ่งหมายที่จะให้สถาบันศาลและองค์กรอิสระอื่นสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยสุจริตเที่ยงธรรม สามารถบรรลุความมุ่งหมายได้ ซึ่งย่อมหมายถึง ดุลยภาพระหว่างอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ภายใต้ระบบรัฐสภาของไทยย่อมเป็นไปอย่างมีดุลยภาพ
การแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นการแก้ไขที่มา คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิกวุฒิสภาในครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อดุลยภาพของระบบรัฐสภาที่มีศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรในการถ่วงดุลยภาพอย่างมีนัยสำคัญ เพราะการบัญญัติให้คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภามีความเหมือนกัน ตลอดจนปราศจากข้อห้ามการห้ามดำรงตำแหน่งหลังจากพ้นจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือการดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง ย่อมส่งผลทำให้อิทธิพลของพรรคการเมืองเข้ามามีบทบาทต่ออำนาจของวุฒิสภามากขึ้น จนไม่อาจแยกความแตกต่างระหว่างที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาได้ในที่สุด การที่อำนาจของพรรคการเมืองเข้ามามีบทบาทครอบงำอำนาจของวุฒิสภาย่อมส่งผลกระทบต่อดุลยภาพของ“ระบบรัฐสภาไทย”
ติดต่อ:
สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย : OFFICE OF LAW REFORM COMMISSION OF THAILAND อาคารซอฟต์แวร์ ปาร์ค ชั้น๑๙ ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ๑๑๑๒๐ โทร.๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๔๐๕ โทรสาร. ๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๔