เร่ง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม เสียงในอีสานยังก้ำกึ่ง ยังไม่มั่นใจสภาปฏิรูปการเมือง หนุนกระจายอำนาจ

ข่าวทั่วไป Monday August 26, 2013 12:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ส.ค.--อีสานโพล วันนี้ (26 ส.ค. 56) อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง “ความเห็นชาวอีสานต่อการปฏิรูปการเมือง” ผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานเสียงก้ำกึ่งในการเร่งออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม อยากเห็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลเข้าร่วมสภาปฏิรูปการเมือง แต่ก็ยังไม่เชื่อมั่นว่าสภาปฏิรูปการเมืองจะช่วยทำให้บ้านเมืองลดความขัดแย้ง และเชื่อว่าการกระจายอำนาจและงบประมาณสู่จังหวัดจะเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยปฏิรูปการเมืองได้ ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล เปิดเผยว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของชาวอีสาน ต่อการปฏิรูปการเมืองและความขัดแย้งทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้น โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 19-21 ส.ค. 2556 กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานอายุ 18 ปีขึ้นไป 701 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ หนองคาย ชัยภูมิ เลย อุบลราชธานี อุดรธานี นครพนม หนองบัวลำภู สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ และบึงกาฬ เมื่อสอบถามความเห็นของกลุ่มตัวอย่างชาวอีสานว่า การผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยพรรคเพื่อไทย เป็นเรื่องเร่งด่วนหรือไม่ ร้อยละ 53.1 เห็นว่าไม่เป็นเรื่องเร่งด่วน โดยเหตุผลหลักๆ ของคนกลุ่มนี้คือ เรื่องเศรษฐกิจของประเทศและปากท้องของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนกว่า เป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ของนักการเมืองและคนส่วนน้อยไม่เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม และควรปล่อยให้เป็นเรื่องของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น ส่วนอีกร้อยละ 46.9 ที่เห็นว่าการผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นเรื่องเร่งด่วนนั้น โดยในคนกลุ่มนี้ให้เหตุผลว่า เพราะจะช่วยให้เกิดความสามัคคีปรองดอง เกิดประโยชน์ต่อบ้านเมือง และเป็นการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนและไม่เป็นธรรมจากความขัดแย้งทางการเมือง เป็นต้น จากข่าวที่มีการนำเสนอว่า รัฐบาลได้เชิญอดีตนายกรัฐมนตรี ประเทศอังกฤษ นายโทนี่ แบลร์ ซึ่งเป็นชาวต่างชาติ มาร่วมถกในสภาปฏิรูปการเมืองด้วยนั้น อีสานโพลได้สอบถามกลุ่มตัวอย่างว่ารู้สึกเห็นด้วยหรือไม่ในกรณีดังกล่าว ผลสำรวจพบว่าเสียงแตกออกเป็น 3 กลุ่มใกล้เคียงกัน คือ ร้อยละ 37.9 ไม่แน่ใจ ร้อยละ 32.1 เห็นด้วย และร้อยละ 30.0 ไม่เห็นด้วย เมื่อสอบถามว่า กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานมีความคิดเห็นอย่างไร ต่อกรณีที่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล เช่น พรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ปฏิเสธการเข้าร่วมสภาปฏิรูปการเมือง ผลสำรวจพบว่า เกินครึ่งเล็กน้อยหรือร้อยละ 52.6 รู้สึกไม่เห็นด้วย รองลงมาร้อยละ 28.0 รู้สึกไม่แน่ใจ และอีกร้อยละ 19.4 รู้สึกเห็นด้วย เมื่อสอบถามความเห็นของกลุ่มตัวอย่างชาวอีสานว่า สภาปฏิรูปการเมือง ที่กำลังมีการผลักดันให้มีมีการพูดคุยกันอยู่ในขณะนี้ จะสามารถช่วยสร้างความปรองดองให้คนในชาติได้หรือไม่ พบว่ากลุ่มตัวอย่างชาวอีสานยังไม่ถึงครึ่งหรือร้อยละ 42.0 เห็นว่าสามารถช่วยได้ รองลงมาร้อยละ 23.0 ไม่แน่ใจ ร้อยละ 21.5 เชื่อว่าไม่สามารถช่วยสร้างความปรองดองได้ และอีกร้อยละ 13.5 ที่เชื่อว่าสภาปฏิรูปการเมืองจะยิ่งเป็นการเพิ่มความขัดแย้งให้มากขึ้น อีสานโพลได้สอบถามอีกว่า กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานมีความคิดเห็นอย่างไร ต่อกรณีที่มีผู้เสนอให้ปฏิรูปการเมืองโดยการกระจายงบประมาณและอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ระดับจังหวัดให้มากขึ้น ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 68.6 เห็นด้วย รองลงมาร้อยละ 20.6 ไม่แน่ใจ และมีเพียงร้อยละ 10.8 ที่ไม่เห็นด้วย สำหรับข้อเสนอแนะของกลุ่มตัวอย่างชาวอีสาน เพื่อให้บ้านเมืองเกิดความปรองดองนั้น มีข้อเสนอหลายแนวทางด้วยกัน เช่น เสนอให้ยึดหลักกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ขอให้ทุกฝ่ายมีการหันหน้ามาเจรจาพูดคุย ขอให้ทุกฝ่ายปฏิบัติหน้าที่ของตนเองให้ดี และคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ เป็นต้น "จากผลสำรวจจะเห็นว่า กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานเกินครึ่ง อยากเห็นทุกฝ่ายในสังคมไทยเข้าร่วมพูดคุยในสภาปฏิรูปการเมือง แต่จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ก็ไม่ได้ทำให้ชาวอีสานส่วนใหญ่มั่นใจว่าสภาปฏิรูปการเมืองจะก่อให้เกิดผลในด้านบวกต่อการเมืองและความปรองดองในชาติ นอกจากนี้ จากความขัดแย้งอำนาจทางการเมืองระดับชาติและการรวมศูนย์อำนาจและงบประมาณไว้ที่ส่วนกลาง กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จึงสนับสนุนแนวคิดการกระจายอำนาจและงบประมาณสู่จังหวัดมากขึ้น สำหรับปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศนั้น กลุ่มตัวอย่างได้มีข้อเสนอที่หลากหลายในการปฏิรูปให้บ้านเมืองเดินหน้าได้ เช่น การยึดหลักนิติรัฐ การหันหน้าคุยกัน การให้ทุกคนปฏิบัติหน้าที่ของตนเองให้ดี และคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง" ดร.สุทิน กล่าวตอนท้าย หมายเหตุ: นอกเหนือจากผลสำรวจ ซึ่งนำเสนอข้อมูลตามวิธีทางสถิติแล้ว ความคิดเห็นอื่นๆ ในผลสำรวจนี้เป็นความเห็นของผู้รับผิดชอบโครงการ ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง มีความเชื่อมั่นในการพยากรณ์ 99% และคลาดเคลื่อนได้บวกลบ 5% ประกอบด้วย เพศหญิง ร้อยละ 51.9 เพศชาย ร้อยละ 48.1 ส่วนใหญ่อายุ 46-60 ปี ร้อยละ 35.4 รองลงมาอายุ 36-45 ปี ร้อยละ 24.7, อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 21.2, อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 12.1 และอายุมากกว่า 60 ปี ร้อยละ 6.6 โดยอาศัยอยู่ในเขตเทศบาล (เขตเมือง) ร้อยละ 35.0 และอยู่นอกเขตเทศบาล (เขตชนบท) ร้อยละ 65.0 ส่วนระดับการศึกษาของผู้ตอบส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับประถมศึกษา/ต่ำกว่า ร้อยละ 35.6 รองลงมาปริญญาตรี ร้อยละ 21.0 มัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช. ร้อยละ 15.6 มัธยมศึกษาตอนต้นร้อยละ 13.6, อนุปริญญา /ปวส. ร้อยละ 9.0 และสูงกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 5.2 ด้านอาชีพส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 41.4 รองลงมาอาชีพค้าขายและธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 13.5 รับราชการ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 12.1 พนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 10.5 รับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงานร้อยละ 11.0 นักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 6.1 อาชีพพ่อบ้าน/แม่บ้าน ร้อยละ 5.2 และอื่นๆ ร้อยละ 0.3 ด้านรายได้เฉลี่ยต่อเดือนส่วนใหญ่รายได้อยู่ที่ 5,001-10,000 บาท ร้อยละ 34.8 รองลงมารายได้ไม่เกิน 5,000 บาท ร้อยละ 25.6 รายได้ 10,001-15,000 บาท ร้อยละ 20.0 รายได้ 15,001-20,000 บาท ร้อยละ 9.2 รายได้ 20,001-40,000 บาท ร้อยละ 8.3 และ 40,001 บาทขึ้นไป ร้อยละ 2.2

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ