กรุงเทพฯ--26 ส.ค.--ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง
- ปรับแนวทางการลงทุนให้สมดุลระหว่างการพัฒนาโครงการใหม่และการซื้อกิจการ เพื่อการเติบโตที่มั่นคงและสถานภาพทางการเงินที่แข็งแกร่ง
- กระจายการลงทุนสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกิจการไฟฟ้ามากขึ้น เช่น ระบบส่ง การฝึกอบรมด้านการเดินเครื่องและบำรุงรักษา เพื่อเพิ่มกระแสเงินสดให้สม่ำเสมอมากขึ้น
- เพิ่มการลงทุนในฐานธุรกิจเดิม พร้อมขยายฐานธุรกิจใหม่ในพม่า อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น กัมพูชา เสริมความเติบโตทั้งด้านกำลังผลิตและความแข็งแกร่งทางการเงิน
บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ปรับแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตสู่เป้าหมายการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนชั้นนำในภูมิภาค โดยจะแสวงหาความร่วมมือกับกับบริษัทในเครือการไฟฟ้า ฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้มากขึ้นในด้านการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนผสานความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ
นายพงษ์ดิษฐ พจนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง เปิดเผยว่า กลยุทธ์และทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ยังคงเน้นลงทุนโครงการที่ใช้เชื้อเพลิงหลักและพลังงานทดแทน ซึ่งรูปแบบการลงทุนจะปรับให้สมดุลระหว่างการพัฒนาโครงการใหม่และการซื้อกิจการ เพื่อให้บริษัทฯเติบโตอย่างมั่นคงและมีเสถียรภาพทางการเงิน ทั้งนี้ บริษัทฯ มีเป้าหมายที่จะเพิ่มการลงทุนในต่างประเทศ โดยให้ความสำคัญกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นอันดับแรก เพราะสามารถผลิตไฟฟ้าจำหน่ายกลับมายังไทยเสริมสร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศและช่วยรักษาระดับอัตราค่าไฟฟ้าไม่ให้สูงเกินไป เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ อีกทั้งยังมองเห็นโอกาสการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการไฟฟ้า ได้แก่ ระบบส่ง การฝึกอบรมด้านเดินเครื่องและบำรุงรักษา ที่จะสามารถสร้างรายได้เสริมให้กับบริษัทฯ อีกทางหนึ่งด้วย
“บริษัทฯ ตั้งใจแน่วแน่ที่จะขยายฐานธุรกิจไปยังพม่าให้สำเร็จ เพราะเป็นประเทศที่มีศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมาก นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีเป้าหมายลงทุนในอินโดนีเซีย ซึ่งเศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีแหล่งเชื้อเพลิงถ่านหินที่สามารถใช้ผลิตไฟฟ้าได้เป็นอย่างดีด้วย สำหรับญี่ปุ่น เป็นเป้าหมายใหม่ที่จะขยายการลงทุน เพราะมีลู่ทางในการเข้าซื้อกิจการและพัฒนาโครงการพลังงานทดแทนที่ให้ผลตอบแทนดี” นายพงษ์ดิษฐ กล่าว
ปัจจุบัน บริษัทฯ จัดโครงสร้างธุรกิจออกเป็น 2 สายธุรกิจ คือ
- ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ประกอบด้วยโครงการที่ใช้เชื้อเพลิงหลัก และโครงการพลังงานทดแทน
- ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับกิจการไฟฟ้า ซึ่งได้ขยายเป้าหมายไปยังธุรกิจระบบส่ง การฝึกอบรมด้านการเดินเครื่องและบำรุงรักษา นอกเหนือจากธุรกิจเดินเครื่องและบำรุงรักษา เหมืองถ่านหิน และซ่อมอุปกรณ์กังหันก๊าซ
ปัจจุบัน รายได้ของบริษัทฯ มาจากฐานธุรกิจ 3 แห่ง คือ ประเทศไทย สปป. ลาว และออสเตรเลีย ซึ่งบริษัทฯ มีแผนที่จะเพิ่มการลงทุนในทั้งสามประเทศ โดยบริษัทฯ มีโครงการที่อยู่ระหว่างการเจรจาและศึกษาความเหมาะสมโครงการในสปป. ลาว 3 โครงการ ขณะที่ออสเตรเลียมี 3 โครงการที่อยู่ในขั้นตอนการขออนุญาตก่อสร้าง สำหรับประเทศไทย บริษัทฯ ได้ให้น้ำหนักการลงทุนในโครงการพลังงานทดแทน และการร่วมทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการไฟฟ้า
“การผนึกกำลังร่วมกับบริษัทในกลุ่ม กฟผ. การผสานความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจเดิม และแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจใหม่ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพด้านการแข่งขันและการลงทุนของบริษัทฯ ในต่างประเทศให้มีมากขึ้น ขณะเดียวกันยังต้องมีการบริหารทรัพย์สินที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสร้างรายได้อย่างคุ้มค่า ด้วยแนวทางดังกล่าวจะช่วยขับเคลื่อนบริษัทฯ ให้เติบโตได้อย่างมั่นคง สร้างผลตอบแทนแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้อย่างเต็มศักยภาพ และรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจผลิตไฟฟ้าได้อย่างยั่งยืน”
ปัจจุบัน บริษัทฯ มีกำลังผลิตที่เดินเครื่องแล้วและอยู่ระหว่างการพัฒนารวมทั้งสิ้น 6,302.52 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นกำลังผลิตในประเทศไทย 4,586.5 เมกะวัตต์ สปป.ลาว 1,206.5 เมกะวัตต์ และออสเตรเลีย 509.52 เมกะวัตต์ สำหรับ โครงการใหม่ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาลงทุนมีจำนวน 7 โครงการ ประกอบด้วย โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลม 2 แห่งในออสเตรเลีย กำลังผลิตรวม 420 เมกะวัตต์ โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในออสเตรเลีย กำลังผลิต 20 เมกะวัตต์ โครงการผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในประเทศอื่นในเอเชีย 3 แห่ง กำลังผลิตรวม 45 เมกะวัตต์ ทั้งนี้จะต้องแสวงหากำลังการผลิตขนาดใหญ่อีกประมาณ 1,000 เมกะวัตต์จากโครงการในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 7,800 เมกะวัตต์ ภายในปี 2559
อนึ่ง บริษัทฯ ได้ประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรกของปี 2556 แก่ผู้ถือหุ้นในอัตรา 1.10 บาทต่อหุ้น กำหนดจ่ายเงินปันผลวันที่ 18 กันยายน ศกนี้