ศศินทร์แนะธุรกิจ SME เร่งศึกษากลยุทธ์ใช้ไอทีบุกตลาดอาเซียน ย้ำเป็นโอกาสสร้างความใกล้ชิดดันแบรนด์เข้าถึงลูกค้าได้ง่ายและรวดเร็ว

ข่าวทั่วไป Monday August 26, 2013 17:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ส.ค.--ศศินทร์ ศศินทร์ แนะภาคธุรกิจเร่งศึกษา กำหนดกลยุทธ์บุกตลาดอาเซียนผ่านสังคมออนไลน์ เผยลูกค้าร้อยละ 90 ศึกษาเปรียบเทียบข้อมูลผลิตภัณฑ์ผ่านอินเตอร์เน็ต ก่อนตัดสินใจซื้อ ย้ำไอทีไม่ใช่เรื่องไกลตัว มีอิทธิพลกับทุกคนมากขึ้น เป็นโอกาสดีในการสร้างความใกล้ชิดระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภค ดร.กฤษติกา คงสมพงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Sasin) เปิดเผยว่า ปัจจุบันนี้ระบบไอทีเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อธุรกิจต่าง ๆ ทั้งสร้างรายได้และลดรายจ่ายให้กับองค์กร นอกจากนี้ยังขยายโอกาสเข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้าง ทำให้การบริหารธุรกิจมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ธุรกิจขนาดย่อมและขนาดใหญ่ต้องพัฒนาระบบไอทีนำมาใช้เป็นตัวช่วยการเติบโตด้านการตลาด เนื่องจากมีศักยภาพเชื่อมโยงระหว่างองค์กรธุรกิจกับผู้บริโภคได้ทั่วโลก เห็นได้จากการพัฒนาแอพพลิเคชั่นใหม่ ๆ ของสินค้าและบริการที่ต้องการขยายตลาดไปสู่ผู้บริโภคกลุ่มใหม่ รวมทั้งมีเป้าหมายส่งเสริมธุรกิจให้มีมูลค่า เพิ่มขีดความสามารถแข่งขันกับนานาชาติได้ โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่กำลังเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ระบบไอทีจะช่วยเรื่องการตลาดได้เป็นอย่างดี เครือข่ายสังคมออนไลน์ ทั้งสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต เฟซบุ๊ก ไลน์ฯลฯ จะเชื่อมโยงให้แบรนด์ต่าง ๆ มีความใกล้ชิดกับผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น “ในอนาคตระบบไอทีจะไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป จะมีความสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นเครื่องมือทำให้มนุษย์มีความสะดวกสบาย เชื่อว่าทุกคนต้องเรียนรู้เทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ และเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการ นักการตลาดจะมีช่องทางใหม่ ๆ รวมทั้งเข้าถึงผู้บริโภคได้รวดเร็ว ในขณะที่พฤติกรรมผู้บริโภคทั้งในประเทศไทยและอาเซียนมีการเปลี่ยนแปลงตลอด” ดร.กฤษติกา กล่าวและเปิดเผยถึงพฤติกรรมการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ ว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ใช้อินเตอร์เน็ตค้นหาข้อมูลและเปรียบเทียบข้อดีและข้อด้อยของผลิตภัณฑ์ก่อนตัดสินใจซื้อ ทั้งยังมีการแชร์ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นจากเพื่อน ๆ ในโซเซียลเน็ตเวิร์ค โดยเฉพาะไลน์ ซึ่งถือเป็นแอพพลิเคชั่นที่กำลังได้รับความนิยมสูง และประเทศที่มีคนเล่นไลน์มากที่สุดในเอเชียคือไทย ใต้หวัน และญี่ปุ่น ส่วนใหญ่นิยมพูดคุย แชร์ความรู้เกี่ยวกับการอุปโภคและบริโภคในชีวิตประจำวัน การพูดคุยกับคนรู้จักทำให้เกิดความไว้วางใจ เชื่อว่าจะทำให้เกิดการตัดสินใจซื้อสินค้าจากการเล่นไลน์เพิ่มขึ้น ดร.กฤษติกา กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้องค์กรธุรกิจไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมพนักงานที่ใช้โซเซียลเน็ตเวิร์คในเรื่องส่วนตัวและความบันเทิง จึงปิดกั้นระบบไอทีไม่ให้เชื่อมต่อกับภายนอกองค์กรได้ แต่พนักงานก็มีทางออก โดยเชื่อมต่อผ่านโน๊ตบุ๊ค สมาร์ทโฟน แท็ปเล็ตส่วนตัว และมีแนวโน้มว่าเทรนด์อุปกรณ์ดังกล่าวจะได้รับความนิยมมากขึ้น ทำให้ไลฟ์สไตล์ผู้ที่อยู่ในสังคมออนไลน์ใกล้ชิดกับแบรนด์ต่าง ๆ ได้ง่าย เห็นได้จากสินค้าและบริการระดับโลกได้รับประโยชน์จากสังคมออนไลน์โดยสร้างการจดจำ หรือแม้แต่การนำเสนอขาย เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ง่ายกว่าการโฆษณาผ่านสื่ออื่น เนื่องจากผู้บริโภคไม่ค่อยเชื่อถือการโฆษณา แต่จะยอมรับความคิดเห็นในสังคมออนไลน์มากกว่า เช่นเดียวกับการใช้กลยุทธ์ปากต่อปากที่ได้รับความนิยมทางการตลาดมายาวนานนั่นเอง ทุกวันนี้การบอกต่อทำได้ง่ายขึ้นผ่านสังคมออนไลน์ที่เชื่อมต่อไปทั่วโลก ดังนั้น ผู้ประกอบการและนักการตลาดที่ต้องการใช้สังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือในการทำงาน ต้องใช้กลยุทธ์ดึงดูดกลุ่มเป้าหมายให้เข้ามาอ่านและแชร์ข้อมูลของแบรนด์ให้มากที่สุด ให้ผู้บริโภคค้นหาสินค้าและบริการได้ง่าย และเมื่อลูกค้าเข้ามาต้องดูแลอย่างไรเพื่อให้เกิดความประทับใจ ตัดสินใจซื้อ และแชร์ข้อมูล ใช่ว่ากลุ่มเป้าหมายในสังคมออนไลน์จะตัดสินใจซื้อได้เสมอไป ส่วนใหญ่ยังต้องใช้เวลาในการศึกษาและเปรียบเทียบข้อมูล ดังนั้นต้องใช้กลยุทธ์สร้างกระแส การสื่อสารต้องแปลกและสะดุดตา ปัจจุบันธุรกิจขนาดย่อมมีอยู่ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านราย และประมาณ 1 แสนรายทำการตลาดผ่านสังคมออนไลน์อย่างจริงจัง การแข่งขันของตลาดมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภาคธุรกิจจำเป็นต้องเรียนรู้ ศึกษาช่องทางการตลาดดังกล่าวให้มากขึ้น “การทำตลาดผ่านสังคมออนไลน์ในอาเซียน จำเป็นต้องเรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภคแต่ละชาติ โดยเฉพาะภาษาที่สื่อสารในแต่ละท้องถิ่น เช่น หากต้องการบุกตลาดพม่าผ่านสังคมออนไลน์ ข้อมูลต้อง เป็นภาษาอังกฤษ และควรรู้ว่าผู้บริโภคชาวพม่ายอมรับคุณภาพสินค้าไทย นอกจากนี้ธุรกิจที่ทำการตลาดผ่านอินเตอร์เน็ตได้ดี คือธุรกิจส่งออกผลไม้ เพราะผลไม้ไทยมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วโลก รวมทั้งธุรกิจสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่มที่นานาชาติเชื่อมั่น แบรนด์ไทย เช่นเดียวกับสินค้าและบริการอื่น ๆ จำเป็นต้องสร้างภาพลักษณ์ให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคในอาเซียน เชื่อว่าสังคมออนไลน์จะเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการทำตลาดในอาเซียน เพื่อให้สินค้าและบริการเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างไม่มีขีดจำกัด” ดร.กฤษติกา กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ