กรุงเทพฯ--26 ส.ค.--พม.
นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นหน่วยงานหลักในการผลักดันและขับเคลื่อนเสาประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน และได้เล็งเห็นความสำคัญของกระบวนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภายในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่มีภารกิจเกี่ยวข้องและมีความจำเป็นต้องรับรู้รับทราบ และเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ในแผนงานจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน พ.ศ. 2552 — 2558 เพื่อจะร่วมกำหนดทิศทางการดำเนินงานตามแผนงานจัดตั้งของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี
กองอาเซียนจึงได้จัด“โครงการทบทวนแผนปฏิบัติการประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน” ซึ่งจะเป็นเวทีสำคัญในการจะช่วยสร้างความรู้ ความเข้าใจ โดยผ่านการ บรรยาย เสวนา ชี้แจง และสร้างความเข้าใจให้กับหน่วยงานภายในกระทรวง พม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อันจะนำไปสู่การส่งเสริมการดำเนินงานตามแผนงานจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน พ.ศ. 2552 — 2558 ในโอกาสต่อไป
การริเริ่มโครงการฯ ดังกล่าว จะสอดคล้องกับการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community-ASCC) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยู่ร่วมกันในสังคมที่เอื้ออาทร ประชากรมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี ได้รับการพัฒนาในทุกด้าน และมีความมั่นคงทางสังคม ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น การพัฒนาสังคม การพัฒนาการฝึกอบรม การศึกษาระดับพื้นฐานและสูงกว่า การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การสร้างงาน และการคุ้มครองทางสังคม การส่งเสริมความร่วมมือในด้านสาธารณสุข การจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมการปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเขียน นักคิดและศิลปินในภูมิภาค
นอกจากนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คาดว่าผลที่ได้จากการจัดโครงการนี้ คือ แผนยุทธศาสตร์เพื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC) โครงการอาเซียนเพื่อจัดตั้ง Asean Unit ในแต่ละหน่วยงานในสังกัดกระทรวง พม. และโครงการเร่งดวนที่จะทำภายใน 2 ปี ก่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งการจัดทบทวนแผนปฏิบัติการประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน จะส่งผลให้บุคลากรในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เกิดความชัดเจนในการดำเนินงานตามแผนการจัดตั้งประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ทิสทาง นโยบาย และยุธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นแนวทางสำคัญในการดำเนินงานด้านประชาสังคมและวัฒนธรรมในระดับประเทศและภูมิภาค ที่เกี่ยวข้องต่อไปในอนาคต