“วิฑูรย์” แย้มเตรียมออกใบอนุญาตขนแร่ผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ ดีเดย์ภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้

ข่าวทั่วไป Wednesday August 28, 2013 10:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ส.ค.--กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมปรับระบบออกใบอนุญาตขนแร่ใหม่ แก้ปัญหาสวมสิทธิขนแร่ ในขบวนการแร่เถื่อนที่ทำรัฐสูญรายได้กว่า 540 ล้านบาท เล็งใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มความสะดวกรวดเร็วพร้อมรองรับ AEC หลังนำร่องระบบ E-license อนุญาตโรงงานครบวงจรแล้วเวิร์ค โดนใจผู้ประกอบการ นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) มีแผนปรับปรุงระบบการออกใบอนุญาตขนแร่จากเดิมที่ใช้ระบบเอกสาร เปลี่ยนมาใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ในการออกใบอนุญาตขนแร่ โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในสิ้นเดือนกันยายนนี้ จากข้อมูลสถิติการจับกุมดำเนินคดีเกี่ยวกับการทำแร่ผิดกฎหมาย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554-2555 พบว่า มีการลักลอบนำแร่ผิดกฎหมายมาสวมสิทธิออกใบอนุญาตขนแร่ที่มูลค่าแร่รวม ประมาณ 540 ล้านบาท ทั้งนี้ ยังไม่นับถึงความสูญเสียด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตจากการลักลอบทำเหมืองผิดกฎหมาย กพร.เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดทำข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการ โดยได้คัดเลือกกระบวนงานอนุญาตขนแร่ ซึ่งการปรับปรุงกระบวนงานอนุญาตขนแร่นี้จะทำให้รัฐสามารถสร้างความเชื่อมั่นจากภาคประชาชนในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ และทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การออกใบอนุญาตขนแร่ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว จะทำให้เกิดความโปร่งใสในกระบวนการออกใบอนุญาตขนแร่ และสามารถติดตามสถานะของใบอนุญาตขนแร่นั้นได้ นอกจากนี้ ใบอนุญาตขนแร่ที่ออกจากระบบอิเล็กทรอนิกส์ จะมี QR Code ทำให้ไม่สามารถปลอมแปลงใบอนุญาตขนแร่หรือนำมาใช้ซ้ำได้อีก ปัจจุบัน กพร. ได้จัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ในการใช้งานระบบการออกใบอนุญาตขนแร่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวด้วยว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัด ไปปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและระเบียบต่างๆ ให้มีความกระชับ รัดกุม เพื่อประโยชน์ต่อการลงทุน อีกทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่การอนุมัติหลักเกณฑ์ หรือข้อกฎหมายต่างๆ ควรมีความรวดเร็ว ลดขั้นตอนในการพิจารณา หรือการดำเนินการ เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจอุตสาหกรรมเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ การปรับปรุงแก้ไขกฏหมายดังกล่าว ต้องคำนึงถึงการคุ้มครองประโยชน์สุขของประชาชนควบคู่กันไปด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ