5 ทางรอด SME ไทย ในภาวะชะลอตัว พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจาก AEC

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 28, 2013 15:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ส.ค.--โฟร์ฮันเดรท ผู้จัดงาน SME Thailand EXPO ชี้ ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัว เรียนรู้ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความไม่แน่นอน แนะหลักการปรับตัว 5 แนว ทางเพื่อความอยู่รอดและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจาก AEC จากรายงานสถานการณ์ SME ครึ่งปี 2556 ที่ผ่านมา จากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในส่วนสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของ SME พบว่า การส่งออกของ SME มีมูลค่า 158,032.06 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม คิดเป็นร้อยละ 1.01 ส่วนในช่วง 6 เดือนแรก (มกราคม-มิถุนายน) มีมูลค่ารวม 905,767.79 ล้านบาท มีการส่งสินค้าออกไปมากที่สุดคือจีน ตามด้วยญี่ปุ่น , สหรัฐอเมริกา , อินโดนีเซีย และฮ่องกง สินค้าส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรก คือ อัญมณีและเครื่องประดับ พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก ยางและของที่ทำด้วยยาง เครื่องจักร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ น้ำตาลและขนมที่ทำจากน้ำตาล ส่วนการนำเข้าของ SME เดือนมิถุนายนมีมูลค่า 183,110.20 ล้านบาท หดตัวลงจากเดือนพฤษภาคมคิดเป็นร้อยละ 7.19 ทั้งนี้ตลาดที่มีการนำเข้าสินค้ามากที่สุดคือจีน รองลงมาคือ ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้ตามลำดับ สินค้าที่นำเข้ามากที่สุดคืออัญมณีและเครื่องประดับ รองลงมาคือเครื่องจักรคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบเหล็กและเหล็กกล้า พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก ตามลำดับ นายวินัย วิโรจน์จริยากร กรรมการผู้จัดการ บริษัทเพนนินซูลาร์ แอสโซซิเอทส์ ในฐานะผู้จัดงาน SME Thailand EXPO 2013 กล่าวว่า สำหรับเศรษฐกิจของบ้านเราที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ที่ดูเหมือนว่าค่อนข้างจะชะลอตัว ซึ่งอาจจะด้วยเหตุผลสำคัญสองประการด้วยกันคือ กำลังซื้อภายในประเทศที่ดูเหมือนจะแผ่วลงอันเป็นผลมาจากภาระหนี้สินของครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น และอีกประการที่สำคัญคือ ภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา หรือยุโรป ต่างอยู่ในภาวะที่ไม่ดีมากนัก และก็ยังไม่ชัดเจนว่า เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าเหล่านี้จะกลับมาสดใสคึกคักอีกครั้งเมื่อใด ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องพยายามหาหนทางในการปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจสามารถยืนอยู่ได้ในระยะยาว ซึ่งสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญมี 5 แนวทางด้วยกันคือ หนึ่ง ต้องพยายามสร้างหรือค้นหานวัตกรรมใหม่ๆ เพราะผู้ประกอบการจะมัวยึดติดกับการบริหารจัดการ หรือการผลิตสินค้าเดิมๆไม่ได้ เพราะในอนาคตจะทำให้เราไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ ถ้าเรามีสินค้าเดิมๆบวกกับการบริหารจัดการเดิมๆที่มีต้นทุนสูง เราจะไม่มีทางต่อสู้กับคู่แข่งได้ สอง ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะต้องพยายามสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง ซึ่งแน่นอนว่าผู้ประกอบการรายเล็กจะยืนต่อสู้เพียงลำพัง คงเป็นไปไม่ได้ในยุคปัจจุบัน เพราะฉะนั้นเครือข่ายจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้เราสร้างพลังในการต่อรองและการแข่งขันได้ สาม ผู้ประการต้องมีความเข้าใจและตื่นตัวกับเอออีซี ซึ่งถ้านับดูระยะเวลาจากนี้ไปจนถึงปี 2558 ก็จะเห็นได้ว่าเรามีเวลาเหลืออยู่ไม่มากนัก ดังนั้นเราต้องเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่ามีเรื่องใดบ้างที่เราไม่รู้เกี่ยวกับเออีซี ถ้ารวมกันแล้วเราจะได้เปรียบ หรือเสียเปรียบในเรื่องใดบ้าง และเราต้องเรียนรู้ภาษา วัฒนธรรมอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ ตอนนี้ยังพอมีเวลาเราคงต้องรีบเตรียมตัวเองให้พร้อม สี่ สร้างแบรนด์ให้เข้มแข็ง อนาคตเราจะอยู่แค่เพียงในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตสินค้าแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ เมื่อตลาดกว้างขึ้น ถ้าเราสามารถสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักได้ ก็จะทำให้เราสามารถขยายตลาดต่อไปในอนาคตได้ง่ายดายขึ้น และประการสุดท้ายที่อยากฝากผู้ประกอบการก็คือ การให้ความสำคัญในเรื่องของกระแสสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เพราะอนาคตเรื่องของสิ่งแวดล้อมจะเป็นเรื่องที่ไม่ว่าใครก็ตามก็จะต้องให้ความสำคัญ รวมทั้งปัจจุบันที่ผู้คนห่วงใยและดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้นด้วย ดังนั้นถ้าเลือกได้ผู้ประกอบการควรจะเลือกผลิตสินค้าที่ไม่มีส่วนทำลายสิ่งแวดล้อม หรือสินค้าประเภทที่ทำลายสุขภาพ เพราะสินค้าเหล่านี้จะไม่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตของคนในอนาคต “และแน่นอนว่าจากปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นเครื่องบ่งชี้ทิศทางรูปแบบธุรกิจของประเทศไทย โดยเฉพาะธุรกิจ SME ซึ่งผู้ที่คิดจะเริ่มประกอบธุรกิจ ควรมีการวางแผนอย่างรอบคอบ รวมทั้งพยายามหาหนทางในการปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจสามารถยืนอยู่ได้ในระยะยาว และเพื่อเป็นการช่วยเสริมศักยภาพและบรรเทาผลกระทบที่ผู้ประกอบการ SME ได้รับ จึงได้มีการจัดงาน “SME Thailand Expo 2013” ขึ้นระหว่าง วันที่ 5 - 8 กันยายน 2556 ตั้งแต่เวลา 10.00 — 20.00 น. ณ บริเวณ Hall 2 - 3 อิมแพค เมืองทองธานี เพื่อเป็นการต่อยอดการพัฒนาศักยภาพ รวมทั้งสร้างและขยายโอกาสทางธุรกิจ และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ที่สนใจอยากจะมีธุรกิจเป็นของตนเอง สามารถเริ่มต้นธุรกิจได้ง่ายขึ้น สำหรับผู้ที่สนใจธุรกิจ สามารถเข้ามาทดลองทำและตรวจสอบความชอบของตนเองก่อนลงมือทำธุรกิจจริง เพื่อเป็นการเสริมสร้างอาชีพเสริมให้กับผู้ที่ไม่พร้อมเป็นเจ้าของกิจการแบบเต็มตัวอีกด้วย” นายวินัย กล่าวสรุปในตอนท้าย สอบถามรายละเอียดประชาสัมพันธ์เพิ่มเติม บริษัท โฟร์ฮันเดรท จำกัด คุณสิทธิกร เสงี่ยมโปร่ง โทร.0-2553-3161-3 Email : sitikorn@4h.co.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ