กรุงเทพฯ--28 ส.ค.--สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
สคบ. เดินหน้านโยบายของภาครัฐ จัดงานชุมนุมเยาวชนคุ้มครองผู้บริโภคแห่งประทศไทยสู่อาเซียน หวังเสริมสร้างบทบาทและศักยภาพ “ยุว.อสคบ.” ให้เป็นพลังเยาวชน ที่จะเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศไทย เพื่อเตรียมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า “อาเซียน” มีความสำคัญต่อประเทศไทยหลายด้าน นอกจากจะเป็นกลไกสร้างพันธมิตรและความเป็นปึกแผ่นตลอดจนเสถียรภาพและสันติภาพในภูมิภาคแล้ว เมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประเทศกลุ่มอาเซียนรวมตัวกันและจะมีการขยายตัวทางด้านการค้าและการลงทุนทั้งในประเทศไทยและในกลุ่มอาเซียนมากขึ้นซึ่งจะนำผลดีมาสู่เศรษฐกิจของไทยเป็นอย่างมาก
ดังนั้นกลุ่มประเทศอาเซียนจึงต้องให้ความสำคัญการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ถือเป็นมาตรการทางนโยบายที่ประเทศสมาชิกจำเป็นต้องพิจารณาดำเนินการและควรมีส่วนร่วมในการพัฒนามาตรการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนารูปแบบกลไกการรับเรื่องร้องเรียนและการเยียวยาผู้บริโภคข้ามแดน การเสริมสร้างสมรรถนะเชิงวิชาการ การสนับสนุนการวิจัยและการประชุมหารือระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และการพัฒนารูปแบบการสร้างความตระหนักด้านการคุ้มครองผู้บริโภค
สำหรับประเทศไทยรัฐบาลได้กำหนดเป็นนโยบายในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคให้สามารถสร้างหลักประกันความมั่นคงในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ไม่ให้ผู้บริโภคถูกหลอกลวงเอารัดเอาเปรียบ เสริมสร้างความเข้มแข็งให้สังคมและพัฒนาบทบาทขององค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งทางภาครัฐและเอกชน มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายและมาตรการต่างๆ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้บริโภค
ด้านนายจิรชัย มูลทองโร่ย เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่าจากการกำหนดนโยบายของรัฐบาลตามเจตนาดังกล่าว ถือเป็นภาระหน้าที่อันสำคัญและเร่งด่วนที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในฐานะองค์กรกลางของภาครัฐด้านการคุ้มครองผู้บริโภค จะต้องวางรากฐานและเผยแพร่แนวคิดที่ถูกต้องเกี่ยวกับการรวมพลังผู้บริโภคไปยังกลุ่มเยาวชนให้มีบทบาทในการขับเคลื่อนแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคให้เป็นรูปธรรม
โดยทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการในการจัดตั้ง “ชมรมคุ้มครองผู้บริโภค” ขึ้นในสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการทั่วประเทศ ให้กิจกรรมของชมรมคุ้มครองผู้บริโภคเป็นกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนตามหลักสูตรการศึกษาของชาติ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตด้านการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค มีการสร้างอาสาสมัครคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคระดับเยาวชน หรือ ยุว.อสคบ. หรือ THAI SMART YOUNG CONSUMER LEADERS เพื่อเข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการรณรงค์เผยแพร่ความรู้ การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค และการสร้างฐานความรู้เรื่องการเยียวยาแก้ไขการละเมิดสิทธิผู้บริโภคในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันมี “ยุว.อสคบ.” ทั่วประเทศกว่า 400,000 คน มีครูที่ปรึกษาชมรมกว่า 30,000 คน และได้มีการจัดกิจกรรมพัฒนาการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคสู่ชุมชนกว่า 6,500 ครั้ง
“ยุว.อสคบ.” เปรียบเสมือนเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีความสำคัญของชาติในอนาคต ที่จะเข้ามามีบทบาทในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคของประเทศไทยสู่ประชาคมอาเซียน โดยมีการสนับสนุนรณรงค์ให้ “ยุว.อสคบ. และเยาวชนคุ้มครองผู้บริโภคในกลุ่มประเทศอาเซียน” ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การมีส่วนร่วมในการแสดงศักยภาพความรู้ความสามารถด้านการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคและการเป็นสื่อกลางถ่ายทอดแนวคิดการเยียวยาช่วยเหลือผู้บริโภคทั้งชาวไทยและผู้บริโภคข้ามแดนที่ถูกละเมิดสิทธิ ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องสิทธิของตนเอง เพื่อเป็นการเสริมสร้างแนวคิดการสร้างสังคมแห่งความปลอดภัยเป็นธรรมที่เข้มแข็งทั้งในระดับประเทศและระดับอาเซียน
สำหรับงานชุมนุมเยาวชนคุ้มครองผู้บริโภคแห่งประทศไทยสู่อาเซียนที่ทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและกระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมกันจัดขึ้นนั้น ถือเป็นการเริ่มต้นที่เป็นรูปธรรมเพื่อผลักดันนโยบายและบทบาทการนำการคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศไทยเพื่อเตรียมพร้อมการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน โดยมีผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆเข้าร่วมงานประมาณ 600 คน ได้แก่ ครูที่ปรึกษาชมรมคุ้มครองผู้บริโภค และ ยุว.อสคบ. ของชมรมคุ้มครองผู้บริโภคที่ได้รับการคัดเลือก รวมทั้งตัวแทนจากกลุ่มประเทศอาเซียนอีก 9 ประเทศ
“เชื่อว่ากิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นในงานชุมนุมเยาวชนคุ้มครองผู้บริโภคแห่งประเทศไทยสู่อาเซียน จะทำให้เกิดความผูกพันกันในระหว่างกลุ่มเยาวชนทั้งของไทยและกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมทั้งเป็นโอกาสให้สถานศึกษาต่างๆ แสดงผลงานของชมรมคุ้มครองผู้บริโภค ยุว.อสคบ. และครูที่ปรึกษาชมรมคุ้มครองผู้บริโภคที่มีผลงานดีเด่น เป็นเวทีการนำเสนอนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในตลอดจนการแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคที่มีอยู่ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจให้สถานศึกษาเห็นถึงความสำคัญของงานคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค” เลขาธิการ สคบ. กล่าวปิดท้าย