นายกรัฐมนตรีเปิดงาน “กยศ. พี่ช่วยน้อง” ประกาศความร่วมมือกับ กยศ. จากทุกภาคส่วน

ข่าวทั่วไป Thursday August 29, 2013 09:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ส.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และ ดร.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ได้ร่วมพบปะพูดคุยกับผู้สื่อข่าว ในประเด็นความจำเป็นของการจัดงาน “กยศ. พี่ช่วยน้อง” ในวันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม 2556 เวลา 8.00 -10.15 น. ซึ่งมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน และเป็นสักขีพยานความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ณ ห้องบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ 1 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ดำเนินการมากว่า 17 ปีแล้ว โดยมีจุดประสงค์สำคัญคือ ให้โอกาสทางการศึกษากับนักเรียนนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ซึ่งหลักการสำคัญคือ เป็นกองทุนเงินหมุนเวียนให้ค่าใช้จ่ายและค่าเล่าเรียนระหว่างศึกษา เมื่อเรียนจบผู้กู้ก็ต้องมาชำระคืนเพื่อให้รุ่นต่อไปได้มีโอกาสรับโอกาสนี้เช่นกัน โดยทราบว่าเมื่อเริ่มก่อตั้งมีการคำนวณกันว่า เมื่อกองทุนดำเนินการครบประมาณ 25 ปี ก็จะสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องขอรับการสนับสนุนงบประมาณอีก แต่สถานการณ์จริงปัจจุบันกลับพบว่าแม้รัฐบาลจะเพิ่มงบประมาณให้กับกองทุนทุกปี ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของนักเรียนนักศึกษาที่ต้องการโอกาสในการศึกษาแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ที่น่าตกใจกว่านั้นคือ นักเรียนนักศึกษาที่จบทำงานแล้ว ครบวาระที่ต้องชำระแล้วกลับไม่ชำระเงินตามสัญญา ซึ่งเพิ่มอัตราของผู้กู้ที่ไม่ชำระเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนขณะนี้กล่าวได้ว่า นักเรียนนักศึกษาที่กู้ไป 100 คน ไม่ชำระเงินกับ กยศ. ถึง 60 คน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลกระทบสำคัญที่เกิดขึ้นกับเรื่องนี้คือ กยศ. ไม่มีทุนหมุนเวียนเพียงพอที่จะปล่อยกู้ให้กับเด็กรุ่นใหม่ รุ่นน้องของพวกเรา ผมจึงได้สั่งการให้ กยศ. วิเคราะห์ปัญหาทั้งระบบ คือ จะไม่แก้ปัญหาแค่หางบประมาณใหม่มาให้เท่านั้น ต้องแก้ปัญหาให้ครบวงจร ไม่ให้ปัญหานี้เกิดขึ้นอีก จึงพบว่าเด็กที่จบไปแล้วส่วนหนึ่งมีงานทำ และส่วนหนึ่งไม่มีงานทำ ส่วนเด็กที่ไม่ชำระนั้น จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า ร้อยละ 70 มีงานทำแต่นำเงินรายได้ไปใช้จ่ายอย่างอื่น เราจึงต้องแก้ไขทั้งสองเรื่อง คือ เรื่องของคนที่จบแล้วไม่มีงานทำ กับคนที่จบแล้วมีงานทำแต่ไม่ชำระเงินกับกองทุน กยศ.ได้ปรึกษาหารือกับหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนซึ่งต่างพร้อมจะร่วมมือกับ กยศ.เพื่อแก้ไขปัญหา จนได้ข้อสรุปในการดำเนินการ จึงเป็นที่มาของการจัดงาน “กยศ. พี่ช่วยน้อง” ในวันที่ 30 สิงหาคม 2556 นี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เล็งเห็นความสำคัญของโอกาสทางการศึกษาของเด็กยากจน จึงตอบรับเป็นประธานในงานดังกล่าว ดร.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ได้กล่าวถึงรายละเอียดของการจัดงาน ดังนี้ วัตถุประสงค์การจัดงาน 1.สร้างความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการจัดทำฐานข้อมูลการมีงานทำของนักเรียน / นักศึกษาที่จบการศึกษาแล้ว 2. สร้างระบบการเข้าถึงตลาดแรงงานในระบบให้กับผู้กู้ยืมทุนการศึกษาจากกองทุนฯ 3. สร้างความตระหนักในความรับผิดชอบต่อการชำระเงินของกองทุน เนื้อหาการจัดงานที่ต้องการสื่อให้สาธารณะทราบ 1. การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการกองทุนใน 2 มิติ คือ ประสิทธิภาพของการคัดกรองผู้กู้เข้าสู่ระบบ และการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกองทุนฯ กับผู้กู้ 2. การสร้างโอกาสการเข้าถึงตลาดแรงงานของผู้กู้เงินจากกองทุนฯ โดยให้มีการประสานความร่วมมือการรับผู้กู้เงินกองทุนฯ เข้าฝึกงานระหว่างเรียนและการรับสมัครงาน 3. การสร้างความตระหนักในการความรับผิดชอบต่อการชำระเงินคืนกองทุนฯ โดยการสร้างความร่วมมือระหว่างบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติและองค์กรนายจ้างต่างๆ กิจกรรมในงาน 1.พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกองทุนและองค์กรต่าง ๆ ในด้านต่าง ๆ 23 หน่วยงาน 2. การจัดนิทรรศการชองหน่วยงานภาคีเครือข่าย นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในตอนท้ายว่า การดำเนินการครั้งนี้ แม้จะมีความร่วมมือกับบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่กล่าวถึงกัน เพราะเราได้คำนึงถึงความเดือดร้อนและความเป็นไปได้อย่างรอบคอบ การจัดทำฐานข้อมูล กยศ. จะเริ่มดำเนินการเลยตั้งแต่บัดนี้ และหลังจากวันงาน ประมาณเดือนตุลาคม ปีนี้ กยศ. ก็จะเปิดให้ผู้กู้ที่ค้างชำระมาไกล่เกลี่ยหนี้สิน แล้วข้อมูลของผู้กู้ที่เราจัดเตรียม ตรวจสอบ จะถูกส่งไปเปิดเผยกับบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ในปี 2561 คืออีก 5 ปี ดังนั้น หากผู้กู้ที่ค้างชำระสามารถจัดการประวัติตัวเองได้ใน 5 ปีนี้ ข้อมูลที่เปิดเผยก็จะไม่ส่งผลอะไร แต่กลับจะสร้างเครดิตให้สถาบันการเงินอื่นเกิดความเชื่อถือด้วยซ้ำไป ที่สำคัญ น้องๆ รุ่นหลังๆ ก็จะมีโอกาสในการได้รับทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษานี้ อย่างที่รุ่นพี่ๆได้รับมาแล้ว กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา โทร. 02 610 4888 ต่อ 884-886

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ