เว้นการเก็บภาษีซ้ำซ้อนระหว่างไทยกับสหรัฐฯ และไทยกับลาว

ข่าวทั่วไป Friday January 16, 1998 11:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--16 ม.ค.--กรมสรรพากร
กลยุทธ์ในการส่งเสริมการลงทุนและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศของกรมสรรพากรอีกประการหนึ่งก็คือ การเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อน ซึ่งในเดือนธันวาคม 2540 ที่ผ่านมา ได้มีอนุสัญญา เพื่อเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างประเทศไทยและต่างประเทศบังคับใช้ 2 ฉบับ คือ ระหว่างประเทศไทยกับประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศไทยกับประเทศลาว ซึ่งเป็นที่สนใจของประชาชนเป็นจำนวนมาก
นางไพฑูรย์ พงษ์เกษร เลขานุการกรม ในฐานะโฆษกกรมสรรพากรกล่าวว่า อนุสัญญาการเว้นการเก็บภาษีซ้อนของทั้ง 2 ประเทศได้มีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันสารเรียบร้อยแล้ว โดยอนุสัญญาฯ ระหว่างประเทศไทยกับประเทศสหรัฐอเมริกาจะมีผลบังคับใช้สำหรับภาษีหัก ณ ที่จ่ายหรือเครดิตภาษีที่เกิดขึ้นในหรือหลังวันที่ 1 มิถุนายน 2541 ส่วนภาษีเงินได้อื่น ๆ มีผลบังคับสำหรับภาษีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2541
ส่วนอนุสัญญาฯ ระหว่างประเทศไทยกับประเทศลาว มีผลบังคับใช้ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่ายและส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเงินได้อื่น ๆ สำหรับปีภาษีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2541
การที่กรมสรรพากรได้ดำเนินการเจรจาเพื่อจัดทำอนุสัญญาภาษีซ้อนและสามารถทำให้มีผลบังคับใช้ได้ทั้ง 2 ประเทศดังกล่าวนี้ นับได้ว่ามีส่วนสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการลงทุนจากนักลงทุนจากนักลงทุนมากขึ้นอีกระดับหนึ่ง เนื่องจากอนุสัญญาเว้นการเก็บภาษีซ้อนนี้ ทำให้เกิดสิทธิประโยชน์ของนักลงทุนจากต่างประเทศ ขจัดการจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อนทำให้ลดภาระภาษีลงได้ ตลอดจนทำให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนและเทคโนโลยีระหว่างประเทศ อีกทั้งทำให้เกิดหลักประกันในเรื่องการเสียภาษีว่าจะไม่มีภาระภาษีที่เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นในอนาคตในประเทศคู่สัญญา สำหรับเงินได้บางประเภท เช่น ค่าสิทธิ ดอกเบี้ย ซึ่งต้องเสียภาษีในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ตราบเท่าที่อนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้ ไม่ว่าประเทศที่เป็นคู่สัญญากันจะได้มีการปรับอัตราภาษีเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ก็ตาม--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ