กรุงเทพฯ--29 ส.ค.--คอร์แอนด์ พีค
“สพธอ. จับมือร่วมกับสถาบันการเงินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหนุนการใช้มาตรฐาน NPMS”เผย มาตรฐานกลางข้อความการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ NPMS ปัจจุบัน มีธนาคารและผู้ประกอบการนำไปใช้งานจริง 18 ราย โดยมีแผนยกระดับให้สอดคล้องในระดับอาเซียนและสากลต่อไป
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. เผยผลสืบเนื่องภายหลังการประกาศของคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวันที่ 2 มกราคม 2556 ให้มาตรฐานกลางข้อความการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ระดับผู้ประกอบการ (National Payment Message Standard: NPMS) เป็นมาตรฐานธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (มธอ.0001-2555) แล้วนั้น ทาง สพธอ. ได้ร่วมกับ ธปท. ผลักดันและส่งเสริมให้นำมาตรฐาน NPMS มาใช้เป็นแนวทางในการ การดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อกำหนดให้ภาคธุรกิจกับสถาบันการเงินสามารถรับส่งข้อมูลเกี่ยวกับการชำระเงินระหว่างกัน โดยใช้รูปแบบข้อมูลที่มีมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะช่วยลดภาระการจัดการข้อมูลของภาคธุรกิจและสถาบันการเงิน และเพิ่มความสะดวกให้กับการทำธุรกรรมการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในปัจจุบัน มีธนาคารพาณิชย์และผู้ประกอบการที่นำมาตรฐาน NPMS ไปใช้งานจริง จำนวน 18 ราย ในบริการชำระเงินต่างๆ ซึ่งได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ และทาง สพธอ. มีโครงการสนับสนุนให้เกิดการใช้งานมาตรฐาน NPMS เป็นวงกว้างต่อไป นอกจากนี้ ในอนาคต สพธอ. และ ธปท. มีแผนการทำงานร่วมกันเพื่อยกระดับให้มาตรฐาน NPMS สอดคล้องกับมาตรฐานในระดับภูมิภาคอาเซียนและระดับสากล โดยคำนึงถึงบริบทการใช้งาน ความต้องการทางธุรกิจ และคุณลักษณะของระบบการชำระเงินในประเทศไทยเป็นหลัก
นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. ซึ่งเป็นองค์การมหาชนภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า เนื่องจากในการทำธุรกรรมการชำระเงินของหน่วยงานภาคธุรกิจกับสถาบันการเงินต่างๆ มีการกำหนดรูปแบบข้อความหรือข้อมูลการทำธุรกรรมที่แตกต่างกันตามความต้องการใช้งานของแต่ละหน่วยงาน ทำให้ต้องมีการจัดการข้อมูลหลายรูปแบบและมีภาระงานเพิ่มขึ้น ดังนั้น มาตรฐานกลางข้อความการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ระดับผู้ประกอบการ (National Payment Message Standard: NPMS) จึงกำหนดขึ้นเพื่อให้ภาคธุรกิจกับสถาบันการเงินสามารถรับส่งข้อมูลเกี่ยวกับการชำระเงินระหว่างกัน
โดยใช้รูปแบบข้อมูลที่มีมาตรฐานเดียวกันที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ISO 20022 ซึ่งจะช่วยลดภาระการจัดการข้อมูลของภาคธุรกิจและสถาบันการเงิน ลดความซ้ำซ้อน และเพิ่มความสะดวกให้กับการทำธุรกรรมการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์
ภายหลังการประกาศของคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวันที่ 2 มกราคม 2556 ให้มาตรฐาน NPMS เป็นมาตรฐานธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (มธอ.0001-2555) แล้วนั้น ทาง สพธอ. ได้ร่วมกับ ธปท. ผลักดันและส่งเสริมให้นำมาตรฐาน NPMS มาใช้เป็นแนวทางในการการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งประกอบด้วยมาตรฐานของข้อความการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ 4 ข้อความ ได้แก่ 1. ข้อความโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ 2. ข้อความหักบัญชีเงินฝากอัตโนมัติ 3. ข้อความรายงานสถานะคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการชำระเงิน และ 4. ข้อความแจ้งรายการโอนเงินหรือหักเงิน
ทั้งนี้ ข้อความทั้ง 4 สามารถนำไปใช้ในบริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด 6 ประเภท ประกอบด้วย 1. บริการโอนเงินระหว่างบัญชีภายในธนาคาร 2. บริการออกเช็คเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ 3. บริการโอนเงินรายย่อยครั้งละหลายรายการ 4. บริการโอนเงินระหว่างบัญชีต่างธนาคารผ่านระบบบาทเนต 5. บริการโอนเงินระหว่างประเทศ และ 6. บริการหักบัญชีเงินฝากอัตโนมัติ นอกจากนี้ พบว่ามาตรฐาน NPMS สามารถสนับสนุนบริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยบริการชำระเงินต่างๆ ที่มาตรฐาน NPMS รองรับ มีปริมาณในการทำธุรกรรมคิดเป็นร้อยละ 49 ของปริมาณการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด และมีมูลค่ารวมกันคิดเป็นร้อยละ 89 ของมูลค่าการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด (ข้อมูลจากสถิติการชำระเงินผ่านระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2555 ของธนาคารแห่งประเทศไทย)
ในปี 2556 สพธอ. ได้มีการดำเนินโครงการพัฒนามาตรฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นต่อธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเตรียมความพร้อมเป็นประชาคมอาเซียน 2015 (E-Transactions Standards for ASEAN) เพื่อพัฒนาและสนับสนุนให้เกิดการใช้งานมาตรฐาน NPMS เป็นวงกว้าง ซึ่งในปัจจุบันได้มีหน่วยงานที่ได้นำมาตรฐาน NPMS ไปใช้งานจริงรวมทั้งสิ้น 18 ราย ประกอบด้วย 1. ธ.กรุงเทพ 2. ธ.กสิกรไทย 3. ธ.กรุงไทย 4. ธ.ไทยพาณิชย์ 5. ธ.ทหารไทย 6. ธ.ซิตี้แบงก์ 7. ธ.ซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น 8. ธ.สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) 9. ธ.ซีไอเอ็มบี (ไทย) 10. ธ.กรุงศรีอยุธยา 11. ธ.ฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น 12. ธ.ดอยซ์แบงก์ 13. ธ.มิซูโฮ คอร์ปอเรต 14. กรมศุลกากร 15. สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง และลูกค้าของธนาคารกรุงเทพ จำนวน 3 ราย
ในอนาคต สพธอ. และ ธปท. มีแผนการทำงานร่วมกันเพื่อยกระดับให้มาตรฐาน NPMS สอดคล้องกับมาตรฐานในระดับภูมิภาคผ่านคณะทำงาน WCPSS (Working Committee on Payment and Settlement Systems) ซึ่งเป็นคณะทำงานระบบการชำระเงินในระดับภูมิภาคอาเซียน และระดับสากลผ่าน CGI Forum (Common Global Implementation) โดยคำนึงถึงบริบทการใช้งาน ความต้องการทางธุรกิจ และคุณลักษณะของระบบการชำระเงินในประเทศไทยเป็นหลัก นอกจากนี้ สพธอ. จะร่วมกับ ธปท. ในการวางแผนการดำเนินงานเพื่อผลักดันให้มาตรฐาน NPMS ครอบคลุมการรับส่งข้อความระหว่างธนาคารพาณิชย์ ทำให้ระบบการชำระเงินของประเทศไทยเป็นแบบ Straight Through Processing ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดในการดำเนินการ (Operational risk) และลดต้นทุนของธุรกรรมการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์
สื่อมวลชนสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
คุณปาริชาติ สุวรรณ์ (ปุ้ม) โทร.0-2439-4600 ต่อ8203
อีเมล์ paricharts@corepeak.com