ภาคธุรกิจไทยและผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ผนึกกำลังกระตุ้น “จริยธรรมสังคม” ขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกภาคส่วนครั้งแรกในอาเซียน

ข่าวทั่วไป Friday August 30, 2013 15:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ส.ค.--นิโอ ทาร์เก็ต โคซ์ ราวนด์ เทเบิ้ล Caux Round Table เครือข่ายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนระดับโลก หอการค้าไทย และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI)รวมพลังจัดประชุมระดับโลกด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนครั้งแรกในภูมิภาคอาเซียน “The 2013 Bangkok Conference: Global Dialogue on Sustainable Development” วันที่ 10 ตุลาคม นี้ ระดมความคิดและประสบการณ์ซีอีโอภาคธุรกิจไทยและเทศ ผู้เชี่ยวชาญ และภาคประชาสังคม กว่า 1,000 คน พร้อมนักคิดนักเขียนชื่อดังระดับโลก อาทิ Dr. Gayle C. Avery และ Michael J. Sandel ร่วมจุดประกายแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผลักดันคุณธรรมจริยธรรมสังคม ให้ซึมซับในหัวใจทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง นายนิกม์ พิศยบุตร ผู้แทนโคซ์ ราวนด์ เทเบิ้ล ประเทศไทย กล่าวในโอกาสแถลงข่าวการจัดประชุม “The 2013 Bangkok Conference: Global Dialogue on Sustainable Development” ว่า "Caux Round Table เครือข่ายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนระดับโลก ได้เลือกประเทศไทยให้เป็นสถานที่จัดประชุมประจำปี ด้วยเล็งเห็นว่าประเทศไทย มีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติทั้งในภาคธุรกิจและภาครัฐ รวมทั้งในชีวิตประจำวัน โดยใช้หลักความมีเหตุ ผล การเดินสายกลางและการคุ้มกันตัวเอง บนหลักการเรียนรู้และจริยธรรม รวมทั้งใช้แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับในเวทีโลก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต การจัดประชุมครั้งนี้มุ่งหวังให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนจากผู้ทรงคุณวุฒิชั้นนำของโลก รวมถึงการสร้างเครือข่ายและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ" ดร.ปรียานุช ธรรมปิยาคณะกรรมการการจัดประชุมฯ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐกิจพอเพียง กล่าวถึงจุดเด่นของการประชุมครั้งนี้ว่า "การร่วมกันถกแถลงของผู้นำทางธูรกิจและสังคมกว่า 1,000 คนในครั้งนี้ จะสะท้อนให้ทุกภาคส่วนเกิดความตระหนัก เห็นความชัดเจน และเข้าถึงการรักษาสมดุลย์ในสังคม สมดุลย์ของระบบนิเวศน์ รวมทั้งความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของภาคเอกชนและชุมชน ซึ่งจะตอกย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน หลายองค์กรให้ความสำคัญกับค่านิยม (values) จิตสำนึก (mindset) และจริยธรรม (moral & ethics) บนพื้นฐานจิตใจที่เห็นคุณค่าของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เป็นหัวใจหลักที่ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในทิศทางที่จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน " "จุดเด่นที่สำคัญอีกประการ คือวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่จะเข้าร่วมถกแถลงและกลั่นกรองประสบการณ์ในการประชุมครั้งนี้ล้วนเป็นผู้มีชื่อเสียงระดับโลก อาทิ Dr. Gayle C. Avery, Michael J. Sandel, HaraldBergsteiner, มรว.ดิศนัดดา ดิศกุล, นพ. ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐสิน, Mark O. Berelowit,Dr. Deepa Narayan และ Paul Cheung ซึ่งแต่ละท่าน จะมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางการทำงานด้านนี้ อันเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยที่จะนำแนวคิดและบทเรียนไปประยุกต์ใช้ได้อย่างยั่งยืน" ดร.ปรียานุช กล่าวเสริม นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึง บทบาทภาคธุรกิจในการเป็นกำลังสำคัญผลักดันการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังในภาคธุรกิจ ว่า "การดำเนินธุรกิจทุกวันนี้ จะมุ่งหวังผลกำไรเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องคำนึงถึงสิ่งรอบข้าง เพราะสังคมตระหนักถึงผลกระทบของความไม่ถูกต้องในการทำธุรกิจมากขึ้น การพัฒนาอย่างยั่งยืนจะมีความสำคัญต่อการอยู่รอดของภาคธุรกิจและจะทวีความสำคัญยิ่งขึ้นในอนาคต จากนี้ไป ภาคธุรกิจยิ่งต้องให้ความสำคัญเพราะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ทั้งสภาพตลาดที่ได้รวมกันเป็นหนึ่งเดียวของภูมิภาคอาเซียน การเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค ที่ไม่ได้ตัดสินใจซื้อเฉพาะสินค้าและบริการเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ประกอบการด้วย การจัดประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญ ในการแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน จากผู้ทรงคุณวุฒิระดับโลก เพื่อเป็นแนวทางให้ภาคธุรกิจนำไปปฏิบัติอย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ" ด้าน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า "ปัญหาและอุปสรรคต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทย คือ การยึดติดกับกรอบความคิดแบบเก่าว่าถ้าการพัฒนาเติบโตแล้วสิ่งแวดล้อมต้องแย่ การพัฒนาโดยใช้โมเดลมุ่งสิ่งแวดล้อมแต่ทิ้งเศรษฐกิจ หรือมุ่งเศรษฐกิจแต่ทิ้งสิ่งแวดล้อมนั้นใช้ไม่ได้ ทั้งสองสิ่งต้องไปด้วยกันจึงจะเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งปัญหาคอรัปชั่นก็เป็นอีกหนึ่งอุปสรรค เราต้องแก้ปัญหาแบบบูรณาการที่ภาคธุรกิจและเอกชนต้องร่วมมือกัน คือ สามารถดำเนินธุรกิจและแข่งขันได้ภายใต้กฎระเบียบมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น ทั้งนี้ การพัฒนาการยั่งยืนนั้น ปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของจิตสำนึกและอีกส่วนเป็นเรื่องของรายได้ คนต้องพ้นระดับความยากจนสามารถเลี้ยงตัวเอง ได้จึงอยากจะอยู่ในในสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยสถาบันเองได้ทำการวิจัยเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมผลวิจัยให้ภาครัฐศึกษาและใช้เป็นแนวทาง สำหรับออกกฎหมาย นโยบาย ตลอดจนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน เพื่อสร้างสังคมไทยให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติ" การจัดประชุมการพัฒนาอย่างยั่งยืนระดับโลก“The 2013 Bangkok Conference: Global Dialogue on Sustainable Development” โดย Caux Round Table ร่วมกับ หอการค้าไทย และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย จะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม 2556 เวลา 8.00—17.00 น. ณ ห้องคอนเวนชั่น โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งซีอีโอบริษัทชั้นนำต่างๆ จากทั่วทุกมุมโลก นักวิชาการ ผู้แทนหน่วยงาน และผู้นำชุมชน กว่า1,000 คน จะมารวมตัวกันเพื่อร่วมถกแถลง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ในการกำหนดแนวทางในการพัฒนาอย่างยั่งยืนระดับภูมิภาคและระดับโลก ให้คนไทย สังคมไทย ประเทศไทย ได้รับรู้และตื่นตัว รวมทั้งเป็นโอกาสในการนำเสนอแนวทางและตัวอย่างตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ประสบความสำเร็จมากมายในประเทศไทยให้ชาวโลกได้เรียนรู้รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการปลูกจิตสำนึก “จริยธรรมทางสังคม (Moral Capital)” ให้กับพนักงานองค์กรภาคธุรกิจ และกลุ่มคนต่างๆ อันเป็นรากฐานความเป็นธรรมและโปร่งใสของสังคมโลก และการสร้างเครือข่ายและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสังคมโลกร่วมกันในอนาคตสำหรับท่านที่สนใจสามารถติดตามข้อมูล และชมการถ่ายทอดสดการประชุมผ่านทางเว็บไซต์ ได้ที่: www: SDglobaldialogue.com Caux Round Table เป็นเครือข่ายระดับโลกของผู้นำภาคธุรกิจชั้นนำของโลกด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่รวมตัวกันเพื่อนำเสนอหลักการดำเนินธุรกิจที่มีส่วนรับผิดชอบการเติบโตและรุ่งเรืองของสังคมอย่างยั่งยืน โดยจัดการประชุม Global Dialogue on Sustainable Development ในกลุ่มสมาชิกผู้นำธุรกิจชั้นนำจากทั่วโลกขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและร่วมกำหนดแนวทางการปฏิบัติให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต โดยหมุนเวียนจัดประเทศต่างๆ ทั่วโลก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ