กรุงเทพฯ--30 ส.ค.--ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาเก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์
ยุคนี้มั่นใจว่าไม่ว่าใครก็ต้องเคยทรมานกับอาการ “ปวดหลัง” กันมาไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะยิ่งคนทำงานที่ในหนึ่งวันต้องนั่งติดโต๊ะอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ไม่ต่ำกว่า 6-7 ชั่วโมง จนเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของภาวะออฟฟิศซินโดรม ยิ่งแทบไม่ต้องพูดถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่โรคภัยรุมเร้า เพราะแม้อาการปวดหลังจะไม่เป็นอันตรายทำให้ใครเสียชีวิตได้ แต่การต้องทนทุกข์ทรมานกับความเจ็บปวดก็บั่นทอนทั้งกำลังกายและกำลังใจ เรียกได้ว่าเป็นมรสุมลูกใหญ่ในชีวิตที่ทำให้ไม่สามารถทำงานหรือใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างใจคิด
นพ.พูนศักดิ์ อาจอำนวยวิภาส แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ โรงพยาบาลปิยะเวท อธิบายว่า โรคปวดหลังพบได้ในคนทุกกลุ่มตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่กว่า 80% เกิดจากความผิดปกติของกระดูกและกล้ามเนื้อ อันเนื่องมาจากอิริยาบถที่ผิดท่าทาง เช่น การเดิน การยืน การนอน การนั่ง หรือการใช้ชีวิตไม่ถูกต้อง เช่น ยกของหนัก การเล่นกีฬา อุบัติเหตุ ส่วน 20% ที่เหลือเกิดจากความผิดปกติของอวัยวะและโรคต่างๆ
ในเบื้องต้นสำหรับรายที่ไม่รุนแรงมากนัก ทั่วไปจะรักษาด้วยการใช้ยาเพื่อลดการอักเสบ ร่วมด้วยการทำกายภาพบำบัดในบางกรณี พร้อมกับแนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้งานหลัง แต่สำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรงหรือมีอาการปวดต่อเนื่องจนกลายเป็นโรคเรื้อรังนานกว่า 3 เดือน อาจต้องพึ่งการฉีดยาลดการอักเสบที่ช่องไขสันหลัง (Epidural steroid injection) โดยตรง และมีไม่น้อยที่ต้องจบลงด้วยการผ่าตัด บางเคสอาจต้องมีการใส่สกรูเข้าไปเพื่อยึดกระดูกสันหลังให้มั่นคง ซึ่งวิธีการรักษาแบบนี้แม้จะเป็นวิธีการที่ได้มาตรฐานและแพร่หลายทั่วไป แต่ก็ต้องใช้เวลาพักฟื้นทนเจ็บแผลบนเตียงไปอีกนานหลายเดือน ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายสูง ไม่นับรวมความเสี่ยงที่จะเกิดผลแทรกซ้อนหลังผ่าตัด อีกทั้งหากเป็นผู้ป่วยที่มีโรคแทรกซ้อนมาก ไม่สามารถที่จะทำการผ่าตัดกระดูกสันหลังได้ ก็ต้องทุกข์ทรมานกับอาการปวดหลังไปตลอด
นับเป็นข่าวดีสำหรับผู้ป่วยยุคนี้ เพราะวงการแพทย์สมัยใหม่มีการคิดค้นนวัตกรรมสำหรับรักษาอาการปวดหลังส่วนล่างโดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ ที่เรียกว่า Epidural Adhesiolysis (EA) ซึ่งเป็นการฉีดยาเข้าไปที่ช่องไขประสาทเพื่อสลายพังผืดผ่านทางผิวหนังโดยตรง
วิธีการรักษาแบบนี้จะใช้เครื่องมือพิเศษ ซึ่งมีลักษณะเป็นด้ามจับที่ต่อกับอุปกรณ์คล้ายท่อสายยางขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 มม. ยาว 30 ซม. สอดเข้าไปในช่องด้านหลังกระดูกเชิงกราน บริเวณเหนือก้นกบ ทำหน้าที่เลาะและตัดพังผืดที่เกิดขึ้นรอบถุงไขประสาทให้หลุดออกจากการกดทับหรือดึงรั้งเส้นประสาทเพื่อทำการรักษา และยังสามารถใช้เป็นอุปกรณ์ฉีดยาแก้อักเสบและยาละลายพังผืดตรงจุดก่อโรคได้โดยตรงในคราวเดียวกัน และยังสามารถฉีดยาบริเวณช่องกระดูกสันหลังได้หลายตำแหน่งจากการสอดสายเข้าไปเพียงครั้งเดียว
ด้วยเหตุที่เครื่องมือมีขนาดเล็กมากนี้เอง แพทย์จึงสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่ต้องการได้โดยง่าย เข้าถึงจุดที่มีการอักเสบเพื่อทำการรักษาได้อย่างแม่นยำ ผู้ป่วยจึงไม่จำเป็นต้องดมยาสลบเพื่อผ่าตัดใหญ่ เพียงแค่ใช้ยาชาเฉพาะที่บริเวณช่องหลังส่วนล่างก่อนทำการสอดสายเข้าไป ใช้เวลารักษารวมประมาณ 2-3 ชั่วโมง ผู้ป่วยก็สามารถกลับบ้านได้ทันที โดยไม่มีความจำเป็นต้องเย็บแผลแต่อย่างใดเพราะบาดแผลจะมีขนาดเท่ารูเข็มเจาะเลือดเท่านั้น ทำให้แทบไม่มีการเสียเลือดเลย
เรียกได้ว่านอกจากจะให้ผลลัพธ์ด้านการรักษาที่น่าพึงพอใจแล้ว ยังเจ็บตัวน้อยกว่าเดิมมาก ทำให้ไม่ต้องพักฟื้นนานเป็นเดือน และที่สำคัญมีค่าใช้จ่ายในการรักษาไม่แพงเมื่อเทียบกับรูปแบบการรักษาแบบเดิมๆ กลายเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อยสำหรับผู้ป่วยโรคปวดหลังเรื้อรังยุคใหม่