สถานการณ์ราคาน้ำมันประจำสัปดาห์ที่ 26-30 ส.ค. 56 และแนวโน้มในสัปดาห์ที่ 2-6 ก.ย. 56

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 3, 2013 08:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ก.ย.--ปตท. ฝ่ายกลยุทธ์และแผนธุรกิจ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานสรุปสถานการณ์น้ำมันในสัปดาห์ล่าสุดที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.01 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 114.17 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเวสท์ เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 2.80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลอยู่ที่ 108.30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 3.36 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 110.59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 119.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 1.97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 125.49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่ ปัจจัยที่ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก - สถานการณ์การเมืองโลกร้อนแรง โดยกลุ่มประเทศตะวันตกเตรียมใช้กำลังทางทหารโจมตีรัฐบาลซีเรีย หลังจากการใช้อาวุธเคมีเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 56 ทำให้พลเมืองชาวซีเรียเสียชีวิตกว่า 300-1,400 ราย ทั้งนี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แถลงว่ารัฐบาลซีเรียต้องรับผิดชอบต่อการใช้อาวุธที่ขัดต่อบรรทัดฐานระหว่างประเทศ - อุปทานน้ำมันดิบจากลิเบียยังคงตึงตัวจากการประท้วงปิดท่าส่งออก โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมาลิเบียส่งออกน้ำมันดิบได้เพียง 145,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากท่าส่งออกดำเนินการได้เพียง 3 แห่ง จากทั้งหมด 9 แห่ง - CFTC รายงานนักลงทุนเพิ่มสถานะการถือครองสัญญาซื้อสุทธิน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายสินค้าล่วงหน้า NYMEX และ ICE ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 ส.ค. 56 เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 สัปดาห์ โดยเพิ่ม 19,414 สัญญา จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 361,725 สัญญา ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ - ในช่วงปลายสัปดาห์ รัฐสภาอังกฤษลงมติไม่สนับสนุนแผนของนายกรัฐมนตรี นายเดวิด คาเมรอน ที่ผลักดันการปฏิบัติการทางทหารต่อรัฐบาลซีเรีย โดยให้รอผลการตรวจสอบการใช้อาวุธเคมีจากสหประชาชาติก่อน - สำนักสารสนเทศพลังงานของสหรัฐฯ (Energy Information Administration หรือ EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 ส.ค. 56 เพิ่มขึ้น 3 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 362ล้านบาร์เรล - กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน (Durable Goods Orders) ในเดือน ก.ค. 56 ลดลง 7.3% จากเดือนก่อนหน้า ลดลงครั้งแรกในรอบ 4 เดือน และลดลงมากที่สุดตั้งแต่ ส.ค. 55 แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันผันผวนสูง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างซีเรียกับชาติตะวันตก ส่งผลให้นักลงทุนวิตกการใช้กำลังทางทหารเข้าแทรกแซงในสถานการณ์ซีเรีย จะทำให้ภูมิภาคตะวันออกกลางไร้เสถียรภาพ และอุปทานน้ำมันขาดแคลน และปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของ OPEC ในเดือน ส.ค. 56 ลดลง 0.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 30.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันอาจถูกกดดัน เนื่องจากกลุ่มประเทศตะวันตกยังไม่ได้รับฉันทามติในการเข้าโจมตีซีเรีย อาทิ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กลับลำไม่ใช้อำนาจสั่งการให้โจมตีซีเรีย แต่เสนอเรื่องดังกล่าวให้สภา Congress พิจารณาในวันที่ 9 ก.ย. 56 และสำนักตัวแทนพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency หรือ IEA) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางนโยบายพลังงานของประเทศอุตสาหกรรม 28 ประเทศ ยืนยันปริมาณสำรองน้ำมันดิบโลกมีเพียงพอต่อความต้องการใช้ จากการวิเคราะห์ทางเทคนิคคาดว่าสัปดาห์นี้ ราคาน้ำมันดิบ Brent จะเคลื่อนไหวในกรอบ 112-117 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคา WTI จะเคลื่อนไหวในกรอบ 106-110 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคา Dubai จะเคลื่อนไหวในกรอบ 109-114เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน โรงกลั่น Mailiao ในไต้หวันของบริษัท Formosa เดินเครื่องหน่วยผลิต Gasoline ขนาด 84,000 บาร์เรลต่อวัน ในอัตราเพียง 75-80% และมีแผนปิดซ่อมบำรุงในเดือน ต.ค. 56 ประกอบกับโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ ปิดดำเนินการฉุกเฉินหลายแห่ง อาทิ Trainer ขนาด 300,000 บาร์เรลต่อวัน และ St. John ขนาด 185,000 บาร์เรลต่อวัน สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 จะเคลื่อนไหวในกรอบ 119-124 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล อุปทานในภูมิภาคเอเชียอาจตึงตัวเพิ่มขึ้น หลังปริมาณส่งออกน้ำมันดีเซลไปยุโรปในเดือน ก.ย. 56 เพิ่มขึ้น อยู่ที่ 6.2 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบกว่า 2 ปี และอุปสงค์จากการเก็บสำรองน้ำมันสำหรับใช้ทำความอบอุ่นในเอเชียเหนือ เพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมก่อนเข้าสู่ฤดูหนาว สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวในกรอบ 124-129 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ