กรุงเทพฯ--3 ก.ย.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ,ดร.กุลธิดา เสาวภาคย์พงศ์ชัย กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการ สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ระดับอุดมศึกษาร่วมแถลงผลการสำรวจเยาวชนกรุงเทพฯกับการใช้การส่งต่อ โปรแกรมประยุกต์ (application) เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่กลุ่มตัวอย่างนิยมใช้บนโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือแท็บเล็ตสูงสุด 5 อันดับได้แก่ Line คิดเป็นร้อยละ 82.97 Facebook คิดเป็นร้อยละ 79.04 WhatsApp คิดเป็นร้อยละ 74.83 Instagram คิดเป็นร้อยละ 67.08 และ Twitter คิดเป็นร้อยละ 64.78 ขณะที่ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 60.77 นิยมใช้โปรแกรม Tango Text และ ร้อยละ 57.42 นิยมใช้โปรแกรม WeChat ฯลฯ
ศ.ศรีศักดิ์ กล่าวต่อว่า “กลุ่มเยาวชนไทยในเขตกรุงเทพฯ อายุระหว่าง 15-25 ปี จำนวน 1,045 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงไม่ระบุอาชีพ เปิดเผยเหตุผลในการใช้โปรแกรมประยุกต์ผ่านสังคมออนไลน์สื่อสารกับกลุ่มได้แก่ เพื่อนๆ คิดเป็นร้อยละ 86.51 สมาชิกในครอบครัว/บุคคลใกล้ชิด คิดเป็นร้อยละ 79.71 และ ครูอาจารย์/หัวหน้างาน คิดเป็นร้อยละ 72.54 ขณะที่ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 62.11 ใช้ติดต่อกับผู้ซื้อหรือผู้ขายสินค้า/บริการ และ มีกลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 50.24 ใช้ติดต่อกับบุคคลอื่นที่ไม่รู้จัก ทั้งนี้ร้อยละ 88.42 ระบุว่า ตนเองเคยได้รับการส่งต่อข้อความ/ภาพ/คลิป/เสียงผ่านโปรแกรมประยุกต์ (application) เครือข่ายสังคมออนไลน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือแท็บเล็ต”
ผลสำรวจนี้ได้ทำขึ้นในระหว่างวันที่ 18-25 สิงหาคม 2556 สามารถสรุปพฤติกรรมการใช้โปรแกรมประยุกต์ (application) เครือข่ายสังคมออนไลน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ /แท็บเล็ตได้ว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 49.57 มีโปรแกรมประยุกต์ (application) เครือข่ายสังคมออนไลน์ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ /แท็บเล็ตประมาณ 4 - 6 โปรแกรม สำหรับโปรแกรมประยุกต์ (application) เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่กลุ่มตัวอย่างนิยมใช้บนโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือแท็บเล็ตสูงสุด 5 อันดับได้แก่ Line คิดเป็นร้อยละ 82.97 Facebook คิดเป็นร้อยละ 79.04 WhatsApp คิดเป็นร้อยละ 74.83 Instagram คิดเป็นร้อยละ 67.08 และ Twitter คิดเป็นร้อยละ 64.78 ส่วนวัตถุประสงค์สำคัญของกลุ่มตัวอย่างในการใช้โปรแกรมประยุกต์ (application) เครือข่ายสังคมออนไลน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ /แท็บเล็ตสูงสุด 3 อันดับ คือ สนทนากันในเรื่องทั่วๆ ไป คิดเป็นร้อยละ 87.08 รับหรือส่งภาพ/คลิป/เสียง คิดเป็นร้อยละ 80.29 และรับหรือส่งข้อมูลข่าวสารต่างๆ คิดเป็นร้อยละ 74.26 สำหรับผู้ที่กลุ่มตัวอย่างนิยมใช้โปรแกรมประยุกต์ (application) เครือข่ายสังคมออนไลน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ /แท็บเล็ตติดต่อด้วยสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ เพื่อน ๆ คิดเป็นร้อยละ 86.51 สมาชิกในครอบครัว/บุคคลใกล้ชิด คิดเป็นร้อยละ 79.71 และครูอาจารย์/หัวหน้างาน คิดเป็นร้อยละ 72.54
ส่วนพฤติกรรมการส่งต่อข้อมูลผ่านโปรแกรมประยุกต์ (application) เครือข่ายสังคมออนไลน์นั้นสามารถสรุปได้ว่า กลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 88.42 ระบุว่า ตนเองเคยได้รับการส่งต่อข้อความ/ภาพ/คลิป/เสียงผ่านโปรแกรมประยุกต์ (application) เครือข่ายสังคมออนไลน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือแท็บเล็ต อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 61.04 ระบุว่า ตนเองให้ความสนใจเฉพาะเนื้อหาของข้อความ/ภาพ/คลิป/เสียงที่ได้รับการส่งต่อผ่านโปรแกรมประยุกต์ (application) เครือข่ายสังคมออนไลน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่/แท็บเล็ตจากคนรู้จักเท่านั้น ขณะที่ กลุ่มตัวอย่างเกือบหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 30.95 ระบุว่า ตนเองให้ความสนใจเนื้อหาทุกข้อความ/ภาพ/คลิป/เสียงที่ได้รับการส่งต่อ นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 60.28 ให้ความเชื่อถือเนื้อหาเป็นบางข้อความ/ภาพ/คลิป/เสียงที่ได้รับการส่งต่อผ่านโปรแกรมประยุกต์ (application) บนโทรศัพท์เคลื่อนที่/แท็บเล็ต สำหรับการส่งต่อข้อมูลที่ได้รับให้กับผู้อื่น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 61.8 ระบุว่าส่งต่อข้อความ/ภาพ/คลิป/เสียงที่ได้รับผ่านโปรแกรมประยุกต์ (application) เครือข่ายสังคมออนไลน์ไปให้เฉพาะบางคน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างประมาณหนึ่งในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 25.54 ระบุว่า ตนเองส่งต่อข้อความ/ภาพ/คลิป/เสียงไปให้กับทุกคนที่รู้จัก แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 12.66 ระบุว่า ตนเองไม่เคยส่งต่อไปให้กับผู้อื่นเลย ขณะเดียวกัน กลุ่มตัวอย่างประมาณสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 75.46 ระบุว่า ตนเองส่งต่อเป็นบางข้อความ/ภาพ/คลิป/เสียงที่ได้รับผ่านโปรแกรมประยุกต์ (application) เครือข่ายสังคมออนไลน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่/แท็บเล็ตให้กับผู้อื่น
สำหรับผลกระทบกับการส่งต่อข้อมูลหากมีการควบคุมการใช้โปรแกรมประยุกต์ (application) เครือข่ายสังคมออนไลน์ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 77.57 ระบุว่า หากมีการควบคุมการใช้โปรแกรมประยุกต์ (application) เครือข่ายสังคมออนไลน์ จะไม่ส่งผลให้ตนเองส่งต่อข้อความ/ภาพ/คลิป/เสียงที่ได้รับผ่านโปรแกรมประยุกต์ (application) เครือข่ายสังคมออนไลน์ไปให้ผู้อื่นน้อยลง แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 15.61 ระบุว่า จะส่งผลให้ตนเองส่งต่อข้อความ/ภาพ/คลิป/เสียงไปให้ผู้อื่นน้อยลง