กรุงเทพฯ--3 ก.ย.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมกับมหาวิทยาลัย University of Electro-Communications (UEC) เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น แข่งดวลควบคุมหุ่นยนต์ข้ามประเทศในการแข่งขัน Thailand-Japan Crossover Robot 2013 ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ที่ผสานพลังสมองทีมเยาวชนเอเซีย ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมหุ่นยนต์เพื่อการสื่อสารทางไกลข้ามประเทศด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ ในปีนี้มีทีมนักศึกษาไทย 6 คน เข้าร่วมโครงการ และคัดเลือกผู้ได้รับทุนไปฝึกงาน Crossover Robot ที่ประเทศญี่ปุ่น 3 คน เพื่อเข้าร่วมระดมสมอง พร้อมเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยผ่านวัตกรรมหุ่นยนต์รำไทยสู่สายตาชาวญี่ปุ่นและประเทศในเอเชีย
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า “โครงการ Thailand-Japan Crossover Robot มีวัตถุประสงค์เพื่อผสานความร่วมมือทางวิชาการของนักศึกษาไทยกับญี่ปุ่นในการส่งเสริมความสามารถของเยาวชน ด้านเทคโนโลยีสื่อสารหุ่นยนต์ โดยมี ผศ.บุณย์ชนะ ภู่ระหงษ์ อาจารย์สาขาวิศวกรรมสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ดูแลทีมนักศึกษาไทย 6 คน ชั้นปี 3 จากสาขาวิศวกรรมสารสนเทศ 3 คน ได้แก่ นาย ณัฐพงศ์ สังข์เจริญ นายพงศกร จันทีนอก นายชนน รังสิกวานิช และนักศึกษาจากสาขาวิศวกรรมการวัดและควบคุม อีก 3 คน ได้แก่ นายกิรติ สมอารยพงศ์ นายพิพัฒน์ กล่อมมานพ นายดนัย พลชลี รวมทั้งทีมสนับสนุนเป็นเพื่อนๆ นักศึกษาในคณะวิศวกรรมศาสตร์ ส่วนทีมนักศึกษาจาก UEC ประเทศญี่ปุ่นมี 6 คน ได้แก่ นายฮิโรอะกิ ชิราโตริ (Mr. Hiroaki Shiratori), นายโนยูกิ โอโกะ (Mr. Naoyuki Oko), น.ส.อาซะ อิชิโกะซูกะ (Ms. Asa Ichicozuka), นายทากูยะ ชิเกตะ (Mr. Takuya Shigeta), น.ส.อายะ โทโยชิมา (Ms. Aya Toyoshima) และ นายซาโตชิ วาตานาเบะ (Mr. Satoshi Watanabe) การเข้าร่วมแข่งขันในโครงการ Crossover Robot นอกจากจะทำให้เยาวชนไทยและญี่ปุ่นได้พัฒนาทักษะในเทคโนโลยีสื่อสารแล้ว ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ต่อยอดในการพัฒนาการสื่อสารในภาคการผลิต/อุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจในด้านต่างๆ เช่น ภาคปฏิบัติการทางการแพทย์ ภาคการผลิต ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ฯลฯ ในองค์กรต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ประหยัดเวลา ลดต้นทุนพลังงานแรงงาน ประหยัดค่าใช้จ่าย และลดความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การใช้หุ่นยนต์สื่อสารในการทำงานแทนมนุษย์ในถิ่นทุรกันดาร สถานที่ห่างไกล และระหว่างประเทศทั่วโลก ได้โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปเอง “
นายณัฐพงศ์ สังข์เจริญ ตัวแทนทีมนักศึกษาไทย Crossover Robot กล่าวว่า “ในการร่วมกันพัฒนาการ สื่อสารหุ่นยนต์ข้ามประเทศระหว่างไทยและญี่ปุ่น ในรูปแบบของการแข่งขันหุ่นยนต์สื่อสารข้ามประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องนำหุ่นยนต์เดินทางเข้ามาในสนามแข่งขันจริงของแต่ละประเทศ เพียงแต่ใช้ระบบควบคุมการสื่อสารหุ่นยนต์ที่เชื่อมโยงกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต แล้วแสดงผลการแข่งขันแบบ Real Time ที่เห็นภาพการแข่งขัน ณ ปัจจุบันพร้อมกันทั้ง 2 ประเทศ ในการแข่งขัน Thailand-Japan Crossover Robot 2013 ปีนี้ใช้หุ่นยนต์แขนกล 2 ข้าง โดยแขนกลข้างหนึ่งอยู่ใน ประเทศไทย อีกข้างหนึ่งอยู่ที่ญี่ปุ่น และจัดเวทีแข่งขันขึ้นใน 2 ประเทศพร้อมกันคือ เวทีประเทศไทยที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. และเวทีแข่งขันในประเทศญี่ปุ่น ที่มหาวิทยาลัย University of Electro-Communications (UEC) เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ผ่านเวทีกลางซึ่งเป็นสนามการแข่งขันจริงบนจอคอมพิวเตอร์ โดยควบคุมหุ่นยนต์แขนกลของแต่ละประเทศด้วยระบบไมโครคอนโทรลเลอร์ที่เชื่อมโยงกับสัญญาณเน็ตเวิร์คในเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อการสื่อสารการแข่งขันข้ามประเทศร่วมกัน ซึ่งเป็นการผสานเทคโนโลยีสารสนเทศและวิศวกรรมควบคุมในการสื่อสารหุ่นยนต์แขนกล โดยหุ่นยนต์แขนกล 2 ตัวนี้จะแข่งขันหยิบเก็บสิ่งของข้ามประเทศจากอีกประเทศหนึ่งผ่านจอคอมพิวเตอร์ในระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยมีอุปกรณ์ไม้โยกชั่งน้ำหนักสิ่งของที่วางลง หากทีมใดหยิบสิ่งของที่มีน้ำหนักรวมมากกว่ากันจะเป็นทีมชนะ บรรยากาศในการแข่งขันเป็นไปด้วยความสนุกสนาน ต่างฝ่ายต่างลุ้นเชียร์กันอย่างเข้มข้นสุดมันส์ และผลการแข่งขันออกมาคือ เสมอกันทั้งสองประเทศ ”
มาถึงการแข่งขันสื่อสารหุ่นยนต์โดยใช้หุ่นเชิดรำไทย ซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัย University of Electro- Communications หรือ UEC ประเทศญี่ปุ่น โดยได้คัดเลือกนักศึกษาไทยจากทีม Crossover Robot ไทยมา 3 คน ที่ได้รับทุนให้เข้าร่วมการแข่งขันรายการนี้ ได้แก่ นายพิพัฒน์ กล่อมมานพ นายณัฐพงศ์ สังข์เจริญ และนายพงศกร จันทีนอก ซึ่งนับเป็นโอกาสสำคัญในการเข้าร่วมฝึกงานและพัฒนางาน Crossover Robot ระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย เป็นเวลาถึง 5 สัปดาห์
นายพิพัฒน์ กล่อมมานพ ตัวแทนนักศึกษาไทยที่ได้รับการคัดเลือกไปฝึกงานและแข่งขันที่ UEC กล่าวว่า “นักศึกษาไทยทั้ง 3 คนที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมการแข่งขันรายการนี้จะต้องแยกกลุ่มกันเข้าไปร่วมทีมกับนักศึกษาจากประเทศญี่ปุ่น เกาหลีและจีน โดยแต่ละทีมจะร่วมมือกันพัฒนาการสื่อสารหุ่นยนต์โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการควบคุมหุ่นยนต์เพื่อเข้าแข่งขันบังคับหุ่นเชิดรำไทย ทำให้ผมได้ฝึกการใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการควบคุม การใช้กล้อง KINECT จับความเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์ การเขียนโปรแกรมบังคับการเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์ และการเชื่อมโยงระบบคอนโทรเลอร์ในการควบคุมการเคลื่อนไหวด้วยการรำไทยตามจังหวะเพลงรำวงไทยคือ เพลงลาวดวงเดือน และเพลงรำวงสาวบ้านแต้ โดยแต่ละทีมจะมีอาจารย์และนักศึกษาปริญญาโท ที่ UEC ให้คำปรึกษาและประสานการสื่อสารระหว่างกัน ซึ่งทำให้บรรยากาศในการแข่งขันเต็มไปด้วยมิตรภาพ การแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีทางวิศวกรรมศาสตร์ ตลอดจนการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมการรำไทยและความบันเทิงร่วมกัน โดยผลการแข่งขันทีมที่ชนะคือ ทีมที่ผมเป็นสมาชิก โดยได้คะแนนสูงสุดคือ 197 เต็ม 210 ซึ่งได้รับประกาศนียบัตร เราทุกคนภูมิใจครับ ”