อย. เอาจริงดำเนินคดีห้างสรรพสินค้าจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์

ข่าวทั่วไป Monday September 14, 1998 19:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--14 ก.ย.--อย.
อย.เผย ผลร้องเรียนตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2541 พบร้องเรียนเรื่องอาหารมากที่สุด โดยแจ้งผ่านทางโทรศัพท์เป็นอันดับ 1 ส่วนมากพบปัญหามาจากการจำหน่าย เปิดผลคดีห้างสรรพสินค้าจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์เยอะ ส่วนการโฆษณาที่ผิดกฎหมายพบมากทางสื่อสิ่งพิมพ์ อย. จับดำเนินคดีเพียบ
น.พ.มงคล ณ สงขลา เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากการที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำกับดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพให้มีคุณภาพมาตรฐานปลอดภัยในการบริโภค โดยมีมาตรการตั้งแต่กำกับดูแลก่อนที่ผลิตภัณฑ์จะออกสู่ท้องตลาดและหลังจากผลิตภัณฑ์ออกสู่ท้องตลาดแล้ว ทั้งนี้ได้สุ่มตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายนำไปวิเคราะห์หาสิ่งปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ตามแผนการเก็บตัวอย่างส่งวิเคราะห์ของ อย. หรืออาจมาจากการที่ผู้บริโภคตื่นตัวและปกป้องสิทธิของตนโดยการร้องเรียนมายัง อย. ซึ่งจากผลของการร้องเรียนตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2541 ปรากฏว่า ส่วนใหญ่ผู้บริโภคจะร้องเรียนมาทางโทรศัพท์ในปัญหาที่พบจากผลิตภัณฑ์อาหารมากที่สุด โดยพบว่าปัญหาที่ทำให้เกิดการร้องเรียนมาจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยในการบริโภค อย่างไรก็ตาม อย. ก็ได้ดำเนินการตรวจสอบและเก็บตัวอย่างนำไปตรวจวิเคราะห์ตามที่ได้มีการร้องเรียนอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบความผิดก็จะได้มีการดำเนินคดีต่อไป ซึ่งในปีงบประมาณ 2541 นี้ มีผู้จำหน่ายในระดับห้างสรรพสินค้าที่ อย.ได้ดำเนินคดีแล้ว รวมทั้งอยู่ระหว่างดำเนินคดีหลายราย ความผิดที่ตรวจพบคือพบผลิตภัณฑ์อาหารไม่บริสุทธิ์ ได้แก่ หน่อไม้ลวก, ก่งไฉ่ยำ, ก่งไฉ่หวานใส่กรดซาลิซิลิค และตรวจพบสารบอแรกซ์ในเนื้อปลากราย, เนื้อหมูบด, ลูกชิ้น, หมูสับ, ท้อดอง, มะม่วงแช่อิ่ม, ลอดช่อง ตลอดจนตรวจพบราในขนมปังกระเทียม นอกจากนี้ยังดำเนินคดีกับผู้จำหน่ายหมูบดหลายแห่งย่านตลาดปากเกร็ด ตลาดสดนนทบุรี ตลาดบางบัวทอง ที่พบว่ามีการจำหน่ายหมูบดผสมสารบอแรกซ์
เลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า จากการที่พบการกระทำผิดและดำเนินคดีกับผู้จำหน่ายระดับห้างสรรพสินค้ามากมายดังกล่าว อย. จึงมีความตั้งใจที่จะจัดอบรมผู้จำหน่ายโดยเฉพาะซูเปอร์มาเก็ตให้มีความรู้ และสามารถเลือกซื้ออาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่น ๆ ที่ปลอดภัยต่อการบริโภคมาจำหน่าย โดยในปีนี้ได้จัดอบรมไปแล้ว 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่าได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการน้อยมาก อย่างไรก็ตาม อย. ก็จะเดินหน้าจัดอบรมต่อไปเพื่อให้ผู้จำหน่ายนำความรู้จากการอบรมไปปฏิบัติในแนวทางเดียวกันให้จงได้ ทั้งนี้ อย.จะจัดอบรมผู้จัดซื้อและจำหน่ยผลิตภัณฑ์สุขภาพอีกครั้งในวันที่ 28 กันยายน 2541 รายละเอียดติดต่อ ได้ที่งานพัฒนาบุคลากร และวิเทศสัมพันธ์ โทร. 590-7265, 7270, 7259 โดยผู้อบรมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น
นอกจากนี้เลขาธิการฯ ยังได้เปิดเผยถึง การดำเนินคดีกับผู้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพว่า การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่โอ้อวดเกินจริง หลอกลวงให้ผู้บริโภคหลงเชื่อก็เป็นการกระทำหนึ่งที่ อย. ต้องเข้มงวดกวดขันและให้ความสำคัญยิ่ง เพราะอาจมีผลให้ผู้บริโภคหลงเชื่อ และย่อมไม่ได้รับความปลอดภัยในการบริโภค ทั้งนี้จากการตรวจสอบและดำเนินคดีเกี่ยวกับการโฆษณาที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ปรากฏว่าพบมากในสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งมีทั้งที่ดำเนินคดีแล้วและอยู่ในระหว่างดำเนินคดี ดังนี้
- ดำเนินการเปรียบเทียบปรับผู้ประกอบการด้านโฆษณายารวม 6 ราย คือ บริษัท ไชน่ามาร์ท จำกัด ข้อหาโฆษณาขายยาสมุนไพรโดยมิได้รับอนุญาต (ผลิตภัณฑ์เห็ดหลินจือ), บริษัท คู่สร้างคู่สม จำกัด ข้อหาโฆษณายาคุมกำเนิดโดยมิได้รับอนุญาต, หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ คอลัมน์ "ชีวิตและเพศสัมพันธ์" โดย น.พ.นพพร, บริษัท เอ็ม.โอ.จี. (ประเทศไทย) จำกัด ข้อหาโฆษณายา แผ่นปะมหัศจรรย์โดยมิได้รับอนุญาต บริษัท โคจิน จำกัด ข้อหาโฆษณายา (ผลิตภัณฑ์โสมยี่ห้อ เคจีที) โดยมิได้รับอนุญาต, และร้านเลิศเภสัชกร ข้อหาโฆษณาขายยาโดยมิได้รับอนุญาต (วางแผ่นพับโฆษณายาคุมกำเนิน "พรีม" ให้ประชาชนทั่วไปหยิบไปอ่าน)
- ดำเนินการเปรียบเทียบปรับผู้ประกอบการด้านโฆษณาอาหาร 1 ราย คือ บริษัท ไชน่ามาร์ท จำกัด ข้อหาโฆษณาคุณประโยชน์ หรือคุณภาพอาหารสรรพคุณอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต (แผ่นพับโฆษณาเครื่องดื่มโสมสกัดคราคอนยอน)
- ดำเนินการเปรียบเทียบปรับผู้ประกอบการด้านโฆษณาเครื่องมือแพทย์รวม 2 รายข้อหาโฆษณาเครื่องมือแพทย์เพื่อประโยชน์ทางการค้าโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากผู้อนุญาต ได้แก่ บริษัทเรนโบว์ ยูนิเวอร์แซล จำกัด และบริษัท หยิกป้อ (ไทยแลนด์) จำกัด
นอกจากนี้ ยังดำเนินการร้องทุกข์ผู้ประกอบการด้านโฆษณาอาหาร กทม. หลายรายในข้อหาความผิดโฆษณาคุณประโยชน์หรือสรรพคุณของอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต และโฆษณาอาหารเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร
อย.จะดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายอย่างเข้มงวดต่อไป เช่น ข้อหาจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ข้อหาโฆษณาคุณประโยชน์หรือสรรพคุณของอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวังโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ข้อหาโฆษณาอาหารเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ฉะนั้นขอฝากเตือนผ่านทางสื่อมวลชนทุกท่านไปยังผู้ประกอบการอย่าได้ทำผิดกฎหมาย หรือทำให้ประชาชนได้รับอันตรายจากการบริโภค เพราะ อย. เอาจริง และไม่ปล่อยให้ผู้ทำผิดลอยนวลแน่ เลขาธิการฯ กล่าวในที่สุด--จบ--

แท็ก อย.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ