กรุงเทพฯ--4 ก.ย.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 1,800 ล้านบาทของ บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A-” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “A-” โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้รับจากการออกหุ้นกู้ในครั้งนี้ไปชำระคืนหนี้เงินกู้จากธนาคารพาณิชย์และใช้ในการขยายงานของโรงพยาบาลแห่งใหม่คือ “World Medical Center” (WMC) ทั้งนี้ อันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำของบริษัทในกลุ่มคนไข้รายได้ระดับปานกลางถึงระดับต่ำลงมา ตลอดจนฐานรายได้ที่หลากหลาย และคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ อย่างไรก็ตาม การประเมินอันดับเครดิตยังคำนึงถึงภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นและอัตรากำไรที่ลดลงในระยะแรกของการเปิดโรงพยาบาล WMC ตลอดจนการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจการรักษาพยาบาล ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านสุขภาพภาครัฐ และความเสี่ยงจากการขยายธุรกิจของบริษัท ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในกลุ่มลูกค้ารายได้ระดับปานกลางและลูกค้าประกันสังคมเอาไว้ได้ รวมทั้งสามารถลดผลขาดทุนจากโรงพยาบาล WMC ในขณะเดียวกันบริษัทก็ควรดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างระมัดระวังสำหรับการลงทุนในอนาคตเพื่อที่จะคงคุณภาพเครดิตของบริษัท รวมทั้งรักษาอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้ต่ำกว่า 50%
บริษัทบางกอก เชน ฮอสปิทอลเป็นเจ้าของและบริหารกิจการโรงพยาบาลจำนวน 6 แห่งภายใต้ชื่อ “โรงพยาบาลเกษมราษฎร์” และโรงพยาบาลใหม่ภายใต้แบรนด์ “World Medical Center” โดย 5 แห่งตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนอีก 2 แห่งอยู่ในจังหวัดเชียงราย และสระบุรี หลังจากตัดสินใจออกจากระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี 2553 บริษัทมีรายได้จากลูกค้า 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มคนไข้เงินสดและกลุ่มคนไข้โครงการประกันสังคม บริษัทมีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งจากการเป็นผู้นำในกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการสุขภาพภาครัฐ โดยในระยะกว่า 5 ปีที่ผ่านมามีสัดส่วนจำนวนผู้ประกันตนในโครงการประกันสังคมในเขตกรุงเทพฯ ประมาณ 9%-11% การมีฐานจำนวนผู้ประกันตนจำนวนมากช่วยให้บริษัทมีความได้เปรียบจากการประหยัดต่อขนาด ในขณะที่ลักษณะของธุรกิจที่มีรายได้จากกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายช่วยเสริมความมั่นคงให้แก่ผลประกอบการ นอกจากนี้ การเข้าร่วมโครงการสุขภาพภาครัฐยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายจากการมีรายได้ที่สม่ำเสมอ และยังช่วยคงระดับการใช้งานเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีต้นทุนสูงไม่ให้ต่ำเกินไปด้วย โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2556 บริษัทมีสัดส่วนรายได้จากกลุ่มคนไข้เงินสดอยู่ที่ 65% และกลุ่มคนไข้โครงการประกันสังคม 35% ตามลำดับ
บริษัทได้เปิดโรงพยาบาลแห่งที่ 7 โรงพยาบาล WMC อย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม 2556 โดยเริ่มเปิดให้บริการ 150 เตียงจากจำนวนเต็ม 320 เตียง WMC เน้นรองรับกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูงในพื้นที่แจ้งวัฒนะซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีอัตราการขยายตัวรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบริษัทยังมีข้อจำกัดในด้านผลงานและชื่อเสียงที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของกลุ่มเป้าหมาย บริษัทจึงต้องเผชิญกับความท้าทายในการที่จะขยายไปสู่ตลาดลูกค้ารายได้สูง ทั้งนี้ สถานะของบริษัทในตลาดลูกค้ารายได้สูงถือว่ายังไม่มีศักยภาพเท่าเทียมกับธุรกิจในปัจจุบัน สำหรับ 6 เดือนแรกของปี 2556 WMC มีผลขาดทุน 138.7 ล้านบาท ผู้บริหารของบริษัทคาดว่า WMC จะมีจุดคุ้มทุนในปี 2557
ในปี 2555 รายได้ของบริษัทเติบโตขึ้น 14% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าเป็น 4,466 ล้านบาท เป็นผลมาจากการเติบโตขึ้นของลูกค้าทั้งกลุ่มลูกค้าเงินสดและกลุ่มลูกค้าประกันสังคม อัตราการทำกำไรของบริษัทปรับตัวดีขึ้นหลังจากบริษัทออกจากระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีอัตรากำไรต่ำ และการควบคุมต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ โดยกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 30% ในปี 2553 เป็น 34% ในปี 2555
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2556 บริษัทมีรายได้จากโรงพยาบาลทั้ง 7 แห่งรวม 2,232 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม บริษัทมีกำไรสุทธิลดลง 36% จาก 444 ล้านบาท ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2555 เป็น 284 ล้านบาท ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2556 การลดลงดังกล่าวมีสาเหตุหลักมาจากผลขาดทุนของโรงพยาบาล WMC นอกจากนี้ ภาระต้นทุนของ WMC ยังส่งผลต่ออัตราการทำกำไรรวมของบริษัท สำหรับ 6 เดือนแรกของปี 2556 บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานลดลงเป็น 25.4% จาก 34.1% ในปี 2555
ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีภาระหนี้เพิ่มสูงขึ้นมาก โดยมีสาเหตุหลักเพื่อการสนับสนุนโครงการ WMC ภาระหนี้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 1,133 ล้านบาท ในปี 2554 เป็น 2,745 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2556 โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นเป็น 39.0% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2556 จาก 23.9% ในปี 2554 อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมีสถานะสภาพคล่องที่ยอมรับได้ที่อันดับเครดิตปัจจุบัน ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2556 บริษัทมีสภาพคล่องโดยวัดจากอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายที่ 8.6 เท่า และมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมสูงถึง 38.8% (ปรับให้เป็นตัวเลขเต็มปี โดยใช้ข้อมูลย้อนหลัง 12 เดือน)
ในอนาคต บริษัทมีแผนที่จะเปิดโรงพยาบาลเพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าประกันสังคมโดยเฉพาะ รวมทั้งมีแผนจะลงทุนเพิ่มเติมใน WMC ดังนั้น ภาระหนี้ของบริษัทมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทควรรักษาระดับอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้ต่ำกว่า 50% นอกจากนี้ ยังคาดหมายว่าบริษัทจะสามารถปรับปรุงผลการดำเนินการให้ดีขึ้น และสามารถชำระหนี้คืนได้อย่างไม่มีปัญหา
บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) (BCH)
อันดับเครดิตองค์กร: A-
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
BCH161A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 800 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2559 A-
BCH181A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2561 A-
หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 1,800 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2560 A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable