กรุงเทพฯ--4 ก.ย.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ,ดร.กุลธิดา เสาวภาคย์พงศ์ชัย กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการ สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ระดับอุดมศึกษาร่วมแถลงผลการสำรวจเยาวชนกรุงเทพฯกับการอ่าน E-Book ,E-Magazine ผ่านออนไลน์ สรุปผลการสำรวจที่ทำขึ้นในระหว่าง วันที่ 25-31 สิงหาคม 2556 จำนวน 1,062 คน
ศ.ศรีศักดิ์ จามรมาน กล่าวว่าจากผลการสำรวจสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์สามารถสรุปพฤติกรรมการอ่านหนังสือทั่วไปนอกเหนือจากหนังสือประเภทตำราเรียนและหนังสือพิมพ์ได้ว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ระบุว่าตนเองเคยอ่านหนังสือทั่วไปนอกเหนือจากหนังสือประเภทตำราเรียนและหนังสือพิมพ์บ้าง โดยคิดเป็นร้อยละ 39.27 ขณะที่ กลุ่มตัวอย่างประมาณหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 33.24 ระบุว่าตนเองอ่านเป็นประจำ แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างมากกว่าหนึ่งในสี่เล็กน้อยหรือคิดเป็นร้อยละ 27.49 ยอมรับว่าตนเองไม่เคยอ่านเลย สำหรับการได้หนังสือทั่วไปนอกเหนือจากหนังสือประเภทตำราเรียนและหนังสือพิมพ์มาอ่านนั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 78.31 ระบุว่า ซื้อมาเป็นของตนเอง รองลงมาคือ ยืมจากบุคคลใกล้ชิดหรือยืมจากเพื่อน คิดเป็นร้อยละ 75.06 นอกจากนี้ คือการเช่าจากร้าน และ ยืมจากห้องสมุด คิดเป็นร้อยละ 67.79 และ ร้อยละ 66.75 ตามลำดับ ส่วนระยะเวลาในการอ่านหนังสือ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ใช้เวลาอ่านหนังสือทั่วไปนอกเหนือจากหนังสือประเภทตำราเรียนและหนังสือพิมพ์โดยเฉลี่ยประมาณ 30 ถึง 60 นาที ต่อวัน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 37.27 สำหรับประเภทหนังสือทั่วไปที่กลุ่มตัวอย่างนิยมอ่านมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ นวนิยาย คิดเป็นร้อยละ 81.17 บันเทิงคดี/เรื่องย่อละคร-ภาพยนตร์ คิดเป็นร้อยละ 79.61 การ์ตูน/นิทาน คิดเป็นร้อยละ 75.58 นิตยสาร คิดเป็นร้อยละ 73.12 และวรรณกรรม/เรื่องสั้น คิดเป็นร้อยละ 69.74 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 64.81 นิยมอ่านหนังสือประเภทสารคดี/ความรู้ทั่วไป
ส่วนสาเหตุสำคัญที่กลุ่มตัวอย่างอ่านหนังสือทั่วไปนอกเหนือจากหนังสือประเภทตำราเรียนและหนังสือพิมพ์ 5 อันดับสูงสุด ได้แก่ เพื่อพักผ่อนสมองจากการเรียน/การทำงาน คิดเป็นร้อยละ 83.25 ชอบการอ่านหนังสือ คิดเป็นร้อยละ 80.52 หนังสือมีเนื้อหาน่าสนใจ คิดเป็นร้อยละ 77.14 สมาชิกในครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิดชอบอ่านหนังสือ คิดเป็นร้อยละ 73.25 และได้ความรู้ที่หลากหลาย คิดเป็นร้อยละ 67.4 ส่วนสาเหตุสำคัญของกลุ่มตัวอย่างที่ไม่อ่านหนังสือทั่วไปนอกเหนือจากหนังสือประเภทตำราเรียนและหนังสือพิมพ์สูงสุด 3 อันดับคือ เพราะไม่มีเวลาอ่าน คิดเป็นร้อยละ 78.42 ตนเองเป็นคนไม่ชอบ/ขี้เกียจอ่านหนังสือ คิดเป็นร้อยละ 75.68 และสมาชิกในครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิดไม่อ่านหนังสือ คิดเป็นร้อยละ 71.23
สำหรับความคิดเห็นต่อการเผยแพร่หนังสือผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-book) นั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 59.79 ระบุว่า ตนเองเคยอ่านหนังสือทั่วไปนอกเหนือจากหนังสือประเภทตำราเรียนและหนังสือพิมพ์ผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-book) ขณะที่ กลุ่มตัวอย่างถึงสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 66.85 เห็นด้วยกับการเผยแพร่หนังสือทั่วไปนอกเหนือจากหนังสือประเภทตำราเรียนและหนังสือพิมพ์ผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-book) และ กลุ่มตัวอย่างประมาณเกือบหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 32.96 ระบุว่า หากมีการเผยแพร่หนังสือทั่วไปนอกเหนือจากหนังสือประเภทตำราเรียนและหนังสือพิมพ์ผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-book) จะส่งผลให้ตนเองอ่านหนังสือได้มากขึ้น