คาด 1 ปีไทยได้ผลวิจัยสารเคมีฆ่ายุงตัวใหม่ เน้นลดปัญหามาเลเรีย

ข่าวทั่วไป Tuesday April 7, 1998 16:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--7 เม.ย.--กระทรวงสาธารณสุข
สำนักงานควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับงบสนับสนุนจากบริษัทเอกชนในสหรัฐอเมริกา ทำการศึกษาวิจัยสารเคมีฆ่ายุงตัวใหม่ เตรียมลงในพื้นที่ที่มีปัญหาไข้มาเลเรียสูงช่วงฤดูฝนเพื่อช่วยลดระบาดของโรคและลดจำนวนยุงที่เป็นพาหะ คาดรู้ผลใน 1 ปี
นายธีระวัฒน์ ศิริวันสาณฑ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความช่วยเหลือทุนวิจัยที่ทางบริษัทเอกชนในสหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนไทยศึกษาสารเคมีฆ่ายุงตัวใหม่ว่า ตามที่ทางสำนักงานควบคุมโรคติดต่อที่นำโดยแมลงจังหวัดเชียงใหม่ได้เสนอขอรับการสนับสนุนงบเพื่อทำการศึกษาวิจัยสารเคมีที่ชื่อ ไบเฟนทริน(Bifentrin) ซึ่งเป็นสารเคมีชนิดใหม่ที่ใช้ในการควบคุมยุง และได้รับการรับรองผ่านขั้นตอนที่ปลอดภัยจากสหรัฐอเมริกาแล้วเพื่อที่จะนำมาศึกษาว่าเหมาะสมกับสภาวะสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยหรือไม่ และเมื่อบ่ายวานนี้ทางตัวแทนของบริษัทเอกชนบริษัทหนึ่งในสหรัฐอเมริกาได้เข้าพบตนและตอบตกลงให้ความช่วยเหลือเรื่องงบประมาณจำนวน 490,000 บาทเพื่อให้ประเทศไทยทำการศึกษาวิจัยสารเคมีตัวนี้คาดว่าผลการวิจัยจะแล้วเสร็จสามารถสรุปผลได้ภายในเวลา 1 ปี ส่วนใหญ่ในการทำการศึกษาวิจัยในครั้ง ตั้งเป้าเพื่อจะลดปัญหาการระบาดของไข้มาเลเรียลงให้ได้ โดยการกำจัดยุงที่เป็นพาหะคือยุงก้นปล่อง
นายธีระวัฒน์ กล่าวต่อว่าสำหรับโรคไข้มาเลเรียซึ่งเป็นโรคที่พบได้ตลอดทั้งปี แต่จะชุกชุมมากในช่วงฤดูฝนและพบมากบริเวณชายแดนรอยต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน สถานการณ์ในรอบปีที่ผ่านมามีคนไทยที่ป่วยด้วยโรคมาเลเรียประมาณปีละ 90,000 รายและเป็นชาวต่างชาติซึ่งส่วนใหญ่เป็นพม่าอีกประมาณปีละ 60,000 - 70,000 ราย ความเจ็บป่วยที่รุนแรงมากที่สุดคือเสียชีวิตต่อปีพบประมาณ 800 ราย แต่ปัญหาของคนที่ไม่ตายจากโรคมาเลเรียคือ ภาวะเรื้อรังจากการเกิดโรคซ้ำซากจนเป็นเหตุบั่นทอนสุขภาพให้ทรุดโทรม นับว่าเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่รุนแรงอีกปัญหาหนึ่งและเป็นปัญหาที่ต้องเร่งหามาตรการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง
ทางด้าน นายแพทย์สมศักดิ์ ประจักษ์วงค์ ผู้อำนวยการสำนักควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการดำเนินการเพื่อเตรียมทำวิจัยในครั้งนี้ทางสำนักงานฯจะเริ่มดำเนินการในช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดของโรคมากที่สุดและจะเลือกพื้นที่ที่มีอัตราการระบาดของโรคไข้มาเลเรียสูงเป็นพื้นที่ทำการโดยการพ่นสารเคมีตามบ้านเรือนในชนบท เพราะในจังหวัดเชียงใหม่อัตราการเกิดโรคไข้มาเลเรียสูงเป็นอันดับ 2 ของจังหวัดในภาคเหนือรองจากจังหวัดแม่ฮ่องสอนคาดว่าการปฏิบัติการครั้งนี้จะช่วยลดอัตราการป่วยและตายด้วยโรคไข้มาเลเรียได้ซึ่งจะใช้อัตราป่วยและจำนวนยุงที่เป็นพาหะเป็นตัวชี้วัด--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ