กรุงเทพฯ--5 ก.ย.--วธ.
วธ.ขึ้น ทะเบียนข้าวหอมมะลิ ภาษาเจ๊ะเห ตำนานกบกินเดือน เป็นมรดกภูมิปัญญาส่งเสริมอัตลักษณ์ รองรับการเป็นภาคีฯ ยูเนสโก รักษามรดกวัฒนธรรมจับต้องไม่ได้ เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2556 นายสนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวในพิธีประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปี 2556 ว่า กระทรวงวัฒนธรรม มีมาตรการส่งเสริมคุณค่ามรดกทางภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นการยกย่องภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ส่งเสริมอัตลักษณ์ของกลุ่มชนที่มีอยู่ทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดการยอมรับในความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม และแสดงความเป็นเจ้าของมรดกภูมิปัญญาที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตตั้งแต่ดั้งเดิม เพื่อไม้ให้ถูกละเมิด และไม่เคารพต่อคุณค่าดั้งเดิม กระทรวงวัฒนธรรมจึงประกาศขึ้นทะเบียนมรดกทางภูมิปัญญา จำนวน 7 สาขา จำนวน 68 รายการ ประกอบด้วย สาขาศิลปะการแสดง จำนวน 15 รายการ ประเภทดนตรี ได้แก่ สรภัญญะ กรือโต๊ะ ลำตัด และอีแซว ประเภทการแสดง ได้แก่ รำประเลง ฟ้อนกลองตุ้ม และลิเกป่า งานฝีมือดั้งเดิม จำนวน 10 รายการ ได้แก่ ตะกร้อหวาย หัวโขน บายศรี สาขาวรรณกรรมพื้นบ้าน จำนวน 9 รายการ ได้แก่ นิทานก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ ตำราพรหมชาติ สาขากีฬาภูมิปัญญาไทย จำนวน 6 รายการ ได้แก่ กาฟักไข่ มวยตับจาก แนวทางปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และงานเทศกาล จำนวน 10 รายการ ได้แก่ ประเพณีบุญบั้งไฟ พีธีทำขวัญนาค พิธีโกนจุก ความรู้และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล จำนวน 9 รายการ ได้แก่ กระยาสารท ยาหม่อง ปลากัดไทย และสาขาภาษา จำนวน 9 รายการ ได้แก่ ภาษาไทยโคราช(ไทยเบิ้ง) ภาษาเขมรถิ่นไทย เป็นต้น นายสนธยา กล่าวต่อว่า กระทรวงวัฒนธรรมยังได้กำหนดนโยบายการปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เพื่อนำไปปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน ได้แก่ 1. การพัฒนาองค์ความรู้ในมรดกภูมิปัญญาให้เป็นทุนทางวัฒนธรรมที่สำคัญ ในการนำไปต่อยอดสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมระดับสูงที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจสร้าง สรรค์ คือการผสมผสานสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมเข้ากับความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยจัดทำคลังข้อมูลมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน 2. การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข็งโดยสนับสนุนการค้นหาอัตลักษณ์อันโดดเด่น ของชุมชน และร่วมกันอนุรักษ์ ฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่นสนับสนุนการจัดกิจกรรมตามประเพณีวัฒนธรรม สร้างจิตสำนึกของความเป็นคนในท้องถิ่นนั้นๆ ที่ต้องร่วมกันอนุรักษ์ภูมิปัญญา เกิดความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนเอง 3. เร่งรัด ผลักดันกลไกในการปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศสู่ระดับ นานาชาติ โดยเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2556 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการรักษา มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ และ 4. การสร้างมาตรการทางการบริหาร หรือกฎหมายเพื่อปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เพื่อเป็นหนทางในการปกป้องคุ้มครอง และเป็นหลักฐานสำคัญของประเทศในการประกาศความเป็นเจ้าของมรดกภูมิปัญญาทาง วัฒนธรรมอีกด้วย