กรุงเทพฯ--5 ก.ย.--บีโอไอ
กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมร่วมคณะนายกรัฐมนตรี เยือน สวิสเซอร์แลนด์ และอิตาลี ระหว่างวันที่ 9-13 กันยายน 2556 นี้ เตรียมจัดสัมมนาใหญ่ในสวิสเซอร์แลนด์ พร้อมเปิดเวทีพบนักธุรกิจชั้นนำ ชี้แจงข้อมูลศักยภาพ และความพร้อมประเทศไทยรองรับการเปิดเออีซี ชี้ผู้ประกอบการยุโรปสนใจลงทุนในไทย หวังเข้าตลาดเอเชีย
นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 9-13 กันยายน 2556 นี้ ผู้บริหารของกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และสำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จะร่วมเดินทางไปกับคณะของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสเยือนสมาพันธรัฐสวิส และสาธารณรัฐอิตาลี อย่างเป็นทางการ เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีด้านการค้า และการลงทุนร่วมกัน รวมถึงใช้โอกาสนี้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เรื่องโอกาสและศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางด้านการค้าและการลงทุนในภูมิภาค รวมทั้งความพร้อมรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558
ในวันที่ 10 กันยายน 2556 บีโอไอ ร่วมกับหน่วยงานฝ่ายไทยและฝ่ายสวิสเซอร์แลนด์ จัดสัมมนาทางธุรกิจ ภายใต้หัวข้อ “Swiss-Thai Business Cooperation” ณ นครซูริก สวิสเซอร์แลนด์ โดยมีภาคเอกชนของสวิสเซอร์แลนด์ในสาขาธุรกิจต่างๆ ทั้งอุตสาหกรรมและบริการ รวมทั้งภาคการเงิน ให้ความสนใจเข้าร่วมงานกว่า 100 คน ซึ่งในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีของไทยจะกล่าวสุนทรพจน์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและชักจูงการลงทุน พร้อมกับเป็นประธานในการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างหน่วยงาน/องค์กรของไทยและสวิสเซอร์แลนด์ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนของสองประเทศ
หลังจากนั้น วันที่ 11-12 กันยายน 2556 จะมีการจัดงาน Business Forum ที่กรุงโรมและมิลาน ประเทศอิตาลี โดยมีนายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เข้าร่วมบรรยายภาพรวม โอกาสและลู่ทางการลงทุนในประเทศไทย นอกจากนี้ จะมีการลงนามต่ออายุบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและ Italian Trade Promotion Agency (ICE) ซึ่งเป็นหน่วยงานส่งเสริมการไปดำเนินธุรกิจในต่างประเทศของบริษัทอิตาลี โดยจะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีลงนามด้วย
นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวว่า สวิสเซอร์แลนด์เป็นประเทศผู้ลงทุนสำคัญและเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลก โดยเป็นหนึ่งในประเทศจากยุโรปที่เข้ามาลงทุนในไทยค่อนข้างสูงและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2545-กรกฎาคม 2556 มีโครงการจากสวิสเซอร์แลนด์ได้รับส่งเสริมการลงทุนแล้ว 134 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 64,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และกระดาษ รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมโลหะและเครื่องจักรกล อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร เป็นต้น
“เศรษฐกิจโดยรวมของสวิส แม้จะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจยุโรปแต่ก็ยังขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 ภาวะเศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 ซึ่งการเยือนสวิสเซอร์แลนด์ของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ จะเป็นการตอกย้ำถึงความสัมพันธ์ของสอง ประเทศ โดยเฉพาะด้านการลงทุนที่สวิสมีศักยภาพสูงในอุตสาหกรรมที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการชักจูงให้มาลงทุนในไทย อาทิ เครื่องจักร/อุปกรณ์ที่มีความแม่นยำสูง เคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยา และเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น รวมถึงโอกาสที่จะกระตุ้นให้เกิดการร่วมทุนกับผู้ประกอบการไทยในการวิจัยและพัฒนาเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือขั้นตอนการผลิตในอนาคต” นายอุดม กล่าว
สำหรับอิตาลี มีการพัฒนาอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ไทยสามารถนำมาเป็นตัวอย่างได้ทั้งด้านการนำเทคโนโลยีภูมิปัญญาท้องถิ่น และเอกลักษณ์มาใช้ในผลิตภัณฑ์สินค้า ซึ่งเอสเอ็มอีจากอิตาลีก็เป็นกลุ่มเป้าหมายหนึ่งในการชักจูงการลงทุน ทั้งนี้ ระหว่างปี 2545 — กรกฎาคม 2556 มีโครงการลงทุนจากอิตาลีได้รับส่งเสริมการลงทุนแล้ว 67 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 8,250 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านอุตสาหกรรมโลหะและเครื่องจักรกล โดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้ตั้งเป้าดึงการลงทุนในกลุ่มที่มีศักยภาพของอิตาลีให้เข้ามาลงทุนในไทย อาทิ อุตสาหกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม ไบโอเทคโนโลยี อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โลหะและเครื่องจักร เป็นต้น