“ช่วงวัย” ของเด็กกับพัฒนาการการเรียนรู้

ข่าวทั่วไป Thursday September 5, 2013 15:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ก.ย.--มูลนิธิสยามกัมมาจล “ช่วงวัย” ของเด็กกับพัฒนาการการเรียนรู้ มูลนิธิสยามกัมมาจล แปลกใจไหมว่า เพราะเหตุใด ? เรื่องบางเรื่องเมื่อตอนเป็นเด็ก ต่อให้เราพยายามเปิดใจเรียนรู้แค่ไหน ก็ไม่ยักจะเห็นว่าน่าสนใจเลยสักนิด แต่พอโตขึ้นมาหน่อยกลับกลายเป็นเรื่องที่แสนตื่นตาตื่นใจ ส่วนอีกหลายๆ เรื่อง ผู้ใหญ่มากประสบการณ์อย่างเราๆ ถ้าไม่สวมหัวใจความเป็นเด็กเข้าไปเรียนรู้แล้วละก็ ต่อให้พยายามแค่ไหนก็เข้าไปไม่ถึง ... ในเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมศักยภาพสถานศึกษาเพื่อพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา ระดับประถมศึกษา จัดโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล เมื่อเร็วๆ นี้ “ครูอุ้ย” อภิสิรี จรัลชวนะเพท ผู้เชี่ยวชาญการศึกษาวอลดอร์ฟ และประธานมูลนิธิโรงเรียนอนุบาลบ้านรัก ได้มาช่วยไขปริศนาคลายข้อข้องใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างช่วงวัยและพัฒนาการการเรียนรู้ที่เด็กแต่ละคนควรได้รับก่อนที่เขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งครูที่เข้าร่วมอบรมสามารถนำไปปรับใช้ได้กับการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียน “ครูอุ้ย” กล่าวว่า ช่วงวัยเป็นปัจจัยสำคัญต่อคนเราที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ หากได้รับการเรียนรู้ที่เหมาะสมสอดคล้องกันไปในแต่ละวัยแล้ว เราก็สามารถจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีพัฒนาการการเรียนรู้ที่สมบูรณ์ ส่งผลต่อร่างกาย และจิตใจที่แข็งแรงตามมาด้วย โดยเฉพาะช่วง 21 ปีแรกที่มีความสำคัญยิ่งต่อชีวิตช่วงที่เหลือ โดย - วัยแรกเกิด - 7 ขวบ เด็กวัยนี้จะมีความมุ่งมั่น (Will) ตั้งใจที่จะทำอะไรๆ ให้สำเร็จ ขณะเดียวกันเขาก็ยังใหม่ต่อโลกมาก สิ่งที่เราต้องเตรียมให้เขาคือ โลกที่สวยงาม โลกที่ให้คุณค่ากับความดีงาม ทำให้เขามั่นใจในการทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จ โดยวัยแรกเกิด — 7 ขวบ ยังส่งผลถึงวัย 35 — 42 ปี หากวัยเด็กได้รับความอบอุ่น ในวัย 35 - 42 ปี เขาจะรู้จักตัวเองว่าควรต้องทำอะไรด้วยความมุ่งมั่นให้สำเร็จ แต่ถ้าในวัยเด็กไม่ถูกเสริมสร้างให้สมบูรณ์ตั้งแต่วัยอนุบาล พอถึงวัยทำงานก็จะทำอะไรให้ประสบความสำเร็จได้ยาก - วัย 7 - 14 ปี เป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างวัยเด็กและวัยรุ่น เขาจะเริ่มมีความปรารถนา รู้สึกถึงความสวยความงาม ความละเอียดอ่อน เพศตรงข้าม ให้ความสำคัญกับความรู้สึก (Feeling) สิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเขา ต้องเป็นสิ่งที่เข้ามาในโลกของความรู้สึกของเขาได้ สิ่งที่นำมาสร้างการเรียนรู้ให้เขา ควรเน้นไปที่การสร้างความงามจากภายในคือ “ศิลปะ” ซึ่งตีความรวมไปถึงดนตรี และกีฬา ไม่ว่าเราจะสอนอะไรให้กับเขา อย่าลืมที่จะเปิดโอกาสให้เขาเชื่อมโยงสิ่งนั้นๆ เข้ากับโลกทางศิลปะด้วย - วัย 14 - 21 ปี เป็นวัยของการคิด (Thinking) เด็กวัยนี้จะมีความคิดเป็นของตัวเอง ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ แต่จะขอใช้เวลาครุ่นคิดกับสิ่งที่เขาสนใจ เด็กในวัยนี้ยังต้องการคนที่มีประสบการณ์ตรงและเป็นผู้เชี่ยวชาญให้การชี้แนะ ตลอดจนครูจึงมีส่วนสำคัญที่จะสนับสนุนให้เขามีหลักในการคิด หล่อหลอมเขาด้วยศรัทธา และช่วยสร้างแรงบันดาลใจ ให้เขาผ่านช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ไปได้อย่างเข้มแข็ง ปลอดภัย เช่น การจัดการเรียนรู้ผ่านการทำโครงงาน "ครูอุ้ย" เน้นย้ำว่า ช่วงวัย 14 — 21 ปี นี้ยังส่งผลต่อเนื่องเรื่อยไปจนถึงช่วงต้นของวัยทำงาน อายุ 21 - 28 ปี ในรายของเด็กที่ค้นพบเป้าหมายของชีวิตในวัย 14 — 21 แล้ว ก็จะเป็นวัยทำงานที่มีพลังความมุ่งมั่นตั้งใจไปตลอด ขณะที่ในรายของเด็กที่ยังไม่ค้นพบว่าตัวเองต้องการอะไรก็จะก้าวข้ามช่วงวัย 21 - 28 ปีอย่างเหงาหงอย ไร้ชีวิตชีวา ที่สำคัญ เมื่อย่างเข้าวัย 42 - 63 ปี จะเป็นช่วงวัยของการคิดอีกครั้งหนึ่ง แต่จะเป็นการคิดที่ต่างจากช่วงวัย 14 — 21 ปี ที่จะยกระดับการคิดเป็นคิดใคร่ครวญ ดังที่เราจะสังเกตได้ว่านักคิดนักเขียนหลายท่านล้วนสร้างสรรค์ผลงานของตนในช่วงนี้ โดยเฉพาะช่วงอายุ 56 — 63 ปี หลังจากได้เรียนรู้โลกมาหมดแล้ว ก็จะมาสนใจเรียนรู้ความรู้ด้านคุณธรรม ใช้ช่วงปลายของชีวิตใช้ความรู้ที่สั่งสมมาสร้างประโยชน์ให้กับคนอื่น “ถ้าเราเป็นครู คงทำสิ่งดีที่สุดในช่วงอายุที่เราดูแลรับผิดชอบเขา ทำให้เต็มที่ เพื่อที่มันจะได้ส่งผลต่อช่วงชีวิตต่อๆ มาของเขา ที่จะไม่พลาด ให้เขางดงามภายใน ประคองชีวิตและครอบครัวให้มันงดงามยิ่งๆ ขึ้นไป” ครูอุ้ยปิดท้าย รู้อย่างนี้แล้ว น่าจะเป็นเครื่องมือที่ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองและคุณครูนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อลูกหลานและลูกศิษย์ เพราะรู้แล้วว่าจะเสริมสร้างการเรียนรู้ให้แก่เด็กๆ ได้เติบโตสมวัยได้อย่างไร
แท็ก ว่าน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ